กรมการแพทย์ เตือน การเคลื่อนไหวผิดปกติคล้ายกับการฟ้อนรำ มีการเคลื่อนไหวเร็วต่อเนื่อง ไม่เป็นจังหวะ ที่บริเวณ นิ้ว มือ เท้า และส่วนแขนหรือขา คือกลุ่มอาการเคลื่อนไหวผิดปกติโคเรีย(Chorea) แนะควรรีบปรึกษาแพทย์
นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า กลุ่มอาการเคลื่อนไหวผิดปกติโคเรีย(Chorea) เป็นการเคลื่อนไหวผิดปกติในรูปแบบของการขยับ บิดหรือม้วนไปมา ไม่สามารถคาดเดาทิศทางหรือรูปแบบได้ คล้ายการรำ อาจพบได้ที่แขนหรือขาข้างเดียว หรือเป็นครึ่งซีก หรือเป็นทั้งตัว โดยส่วนมากผู้ป่วยไม่สามารถหยุดการเคลื่อนไหวผิดปกตินี้ได้ แต่มักปิดบังอาการด้วยการใช้แขนหรือขาข้างนั้นทำกิจกรรมอื่นแทน เช่น มีโคเรียที่มือ ผู้ป่วยมักจับกระดุมไปมาคล้ายกลัดกระดุมเพื่อกลบเกลื่อนอาการ เป็นต้น หรืออาจมีอาการที่ไม่สามารถบังคับให้ตัวเองอยู่ในท่าใดท่าหนึ่งเป็นเวลานาน เช่น ให้กำแต่ห้ามบีบมือผู้ตรวจ เป็นต้น ซึ่งอาการโคเรียและอาการร่วมเหล่านี้ มักรบกวนการทำกิจวัตรประจำวันของผู้ป่วยยกตัวอย่างเช่น ถือของแล้วหล่น ปัดของหล่น คว้าสิ่งของไม่ได้ เดินโยกเยกหรือหกล้ม เป็นต้น หากมีอาการดังกล่าวควรรีบพบแพทย์เพื่อทำการรักษา
นายแพทย์ธนินทร์ เวชชาภินันท์ ผู้อำนวยการสถาบันประสาทวิทยา กล่าวเพิ่มเติมว่า การเกิดโคเรียมีได้หลายสาเหตุ แบ่งเป็นโรคทางพันธุกรรม และสาเหตุที่เกิดภายหลัง โดยโรคที่พบทางพันธุกรรมที่เกิดโคเรียได้บ่อยคือ โรคฮันทิงทัน(Huntington disease) มักพบในคนอายุน้อยและมักมีอาการทางจิตเวชร่วมด้วย ส่วนสาเหตุที่เกิดภายหลังนั้น มีหลายปัจจัยที่พบบ่อยคือ ภาวะน้ำตาลในเลือดสูง หลอดเลือดสมองตีบในบางตำแหน่งของสมอง ภาวะอิมมูน ที่ตอบสนองผิดปกติต่อการติดเชื้อแบคทีเรีย ภาวะเกลือแร่ที่ผิดปกติหรือจากการใช้ยาบางกลุ่ม เป็นต้น การรักษาหากเกิดโรคทางพันธุกรรม ปัจจุบันยังไม่มีวิธีการรักษาให้หายขาดจากโรค มักเป็นการรักษาเพื่อควบคุมอาการโคเรียและอาการทางจิตเวชเท่านั้น การวางแผนครอบครัวจึงเป็นสิ่งสำคัญในการดูแลผู้ป่วย จุดประสงค์เพื่อลดการถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น และลดจำนวนผู้ป่วยที่มีอาการในครอบครัวนั้นๆ การรักษาโคเรียของสาเหตุที่เกิดภายหลังมักเป็นการมองหาสาเหตุ และการแก้ไขเฉพาะจุด ดังนั้น หากผู้ป่วยมีอาการที่สงสัยโคเรียควรมาพบแพทย์ประเมินหาสาเหตุ เพื่อการรักษาที่ถูกต้อง–ต่อไป
ที่มา : กรมการแพทย์