กรมวิทย์การแพทย์ แนะแนวทางการใช้ Antigen Test Kit (ATK) ในการตรวจการติดเชื้อโควิด 19 เบื้องต้น สำหรับสถานพยาบาลของรัฐและเอกชน รวมถึงการตรวจด้วยตนเอง และควรเลือกใช้ชุดทดสอบที่สามารถเก็บตัวอย่างด้วยตัวเองได้ง่าย

847

กรมวิทย์การแพทย์ แนะแนวทางการใช้ Antigen Test Kit (ATK) ในการตรวจการติดเชื้อโควิด 19 เบื้องต้น สำหรับสถานพยาบาลของรัฐและเอกชน รวมถึงการตรวจด้วยตนเอง และควรเลือกใช้ชุดทดสอบที่สามารถเก็บตัวอย่างด้วยตัวเองได้ง่าย

นายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า ขณะนี้พบว่าประชาชนมีความต้องการตรวจหาเชื้อโควิด 19 จำนวนมาก กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ขอแนะนำแนวทางการใช้ Antigen Test Kit (ATK) ในการตรวจการติดเชื้อโควิด 19 เบื้องต้น สำหรับสถานพยาบาลของรัฐและเอกชน รวมถึงการตรวจด้วยตนเอง ดังนี้

1.ชุดตรวจที่ใช้ต้องผ่านการประเมินและขึ้นทะเบียนแล้วกับ อย.

2.ตัวอย่างที่ใช้ตรวจเก็บจาก nasopharyngeal (โพรงหลังจมูก), oropharyngeal (ช่องปากและลำคอ) nasal (โพรงจมูก) หรือน้ำลายตามที่ชุดตรวจกำหนด

3.ใช้เพื่อการคัดกรองเบื้องต้นตามแนวทางที่แนะนำ ดังนี้

-ผู้ป่วยที่มีอาการเข้าข่ายติดเชื้อให้พิจารณาตรวจ ด้วยวิธี RT-PCR ก่อน กรณีตรวจผู้ป่วยจำนวนมากให้พิจารณาใช้ Antigen Test Kit ถ้าให้ผลบวกให้ยืนยันด้วย RT-PCR

-ผู้สงสัยแต่ไม่มีอาการ สามารถพิจารณาตรวจเบื้องต้นด้วย Antigen Test Kit หากผลเป็นลบให้ทำการตรวจซ้ำในอีก 3-5 วัน  แต่หากมีความเสี่ยงสูงให้พิจารณาตรวจด้วย RT-PCR

-กรณีที่ใช้ชุดตรวจ Antigen Test Kit ทำการตรวจด้วยตนเอง ควรเลือกชุดทดสอบที่สามารถเก็บสิ่งส่งตรวจ ด้วยตนเองได้ง่าย เช่น เก็บจากโพรงจมูกหรือน้ำลาย เมื่อมีผลบวกให้แจ้งสถานบริการที่กำหนดใกล้บ้าน เพื่อพิจารณาดำเนินการอย่างเหมาะสมต่อไป

4.ส่วนการเพิ่มการเข้าถึงการตรวจหาเชื้อโควิด 19 อาจพิจารณาร่วมกับการใช้วิธีอื่นๆ อีก เช่น การตรวจน้ำลาย การตรวจแบบ Pooled Samples, LAMP, CRISPR เป็นต้น

ข้อแนะนำกรณีการใช้ Antigen Test Kit ทดสอบด้วยตนเอง

1.ตรวจสอบว่าแต่ละชุดทดสอบนั้นมีคำแนะนำที่แนบมากับชุดทดสอบว่าสามารถใช้กับตัวอย่างที่เก็บจาก บริเวณใด เช่น nasal (โพรงจมูก), nasopharyngeal (โพรงหลังจมูก) oropharyngeal (ช่องปากและลำคอ) หรือน้ำลาย เป็นต้น ควรเลือกใช้ชุดทดสอบที่สามารถเก็บตัวอย่างด้วยตัวเองได้ง่าย

2.ศึกษารายละเอียดขั้นตอนวิธีการทดสอบ การแปลผล จากเอกสารกำกับชุดทดสอบ ก่อนเริ่มทำการทดสอบ

3.การเก็บตัวอย่างและดำเนินการทดสอบ

-ล้างมือให้สะอาด พร้อมสวมใส่อุปกรณ์ป้องกัน (PPE) ก่อนทำการเก็บตัวอย่าง

-ทำการเก็บตัวอย่างให้ถูกต้อง (ตามคำแนะนำวิธีการเก็บตัวอย่าง)

-ทำการทดสอบตามขั้นตอนที่ระบุในเอกสารกำกับอย่างเคร่งครัด

-การเก็บตัวอย่างที่ไม่ถูกต้องตามคำแนะนำ อาจทำให้ผลการทดสอบผิดพลาดได้

4. ข้อควรระวัง

-ชุดทดสอบถูกเก็บรักษาในอุณหภูมิที่ชุดทดสอบกำหนดก่อนนำมาใช้งาน

-ตรวจสอบวันหมดอายุของชุดทดสอบ

-เตรียมพื้นที่สำหรับใช้ทดสอบให้สะอาด ปราศจากการปนเปื้อน

-อย่าเปิดหรือฉีกซองที่บรรจุตลับทดสอบ จนกว่าจะเริ่มทำการทดสอบ

-อ่านผลตามเวลาที่ชุดทดสอบกำหนด (การอ่านผลเร็วหรือช้าเกินไปอาจเกิดความผิดพลาดได้)

-ไม่นำอุปกรณ์หรือตลับทดสอบอันเดิมมาใช้ซ้ำ

-นำชุดทดสอบที่ทดสอบแล้วพร้อมอุปกรณ์ของชุดทดสอบที่เหลือจากการใช้งานแช่น้ำยาฆ่าเชื้อ และแยกใส่ถุงปิดให้มิดชิด และทิ้งให้เหมาะสม

-ล้างมือให้สะอาดภายหลังทำการทดสอบ

นายแพทย์ศุภกิจ กล่าวเพิ่มเติมว่า การปฏิบัติตนหลังทราบผลการทดสอบ กรณีผลการทดสอบให้ ผลบวก ให้แจ้งหน่วยบริการใกล้บ้านที่กำหนด และแยกกักตัวเองจากผู้อื่น เพื่อลดการแพร่เชื้อ เช่น แยกห้องน้ำ ของใช้ส่วนตัว หลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์เลี้ยง สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา หมั่นสังเกตอาการตนเอง หากมีอาการหายใจลำบาก ควรติดต่อขอรับเข้าการรักษาหรือแจ้งผู้ใกล้ชิดกับตนเองให้ทราบ เพื่อลดความเสี่ยง จากการสัมผัส และควรได้รับการทดสอบการติดเชื้อต่อไป ส่วนกรณีผลการทดสอบให้ ผลลบ หากเป็นผู้มีความเสี่ยงสูง อาจอยู่ในระยะฟักตัว ควรทำการแยกตัว และทดสอบซ้ำอีกครั้งภายหลัง 3-5 วัน หรือหากมีอาการของโรคโควิด 19 ควรทำการทดสอบซ้ำทันที

ที่มา : กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์

ลิ้งค์บทความ : https://www3.dmsc.moph.go.th/post-view/1204