สธ. ประกาศปลดล็อก รพ.เอกชน-คลินิก ดำเนินการให้ผู้ป่วยโควิด-19 กักตัวที่บ้าน
เมื่อิวันที่ 15 กรกฎาคม 2564 นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) กระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า สืบเนื่องจากสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด 19 ที่มีความรุนแรงและกระจายไปหลายพื้นที่ ส่งผลให้ทั่วประเทศมีประชาชนที่ประสงค์จะขอรับบริการตรวจคัดกรองโรคโควิด 19 เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก ทำให้โรงพยาบาลเอกชน หรือคลินิกบางแห่ง เกิดการขาดแคลนทรัพยากรในการตรวจหาสารพันธุกรรมของไวรัสโควิด 19 อีกทั้ง กฎหมายกำหนดให้สถานพยาบาลที่ตรวจพบผู้ป่วยโรคโควิด 19 จะต้องดำเนินการประสานหรือรับเข้ารักษาในสถานพยาบาลทันที แต่ด้วยการที่เตียงของแต่ละสถานพยาบาลมีจำนวนจำกัดทำให้ไม่สามารถให้บริการรักษาพยาบาลแก่ผู้ป่วยทุกรายได้ กรม สบส.ตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว จึงได้ออกประกาศกรม สบส.เรื่อง “แนวทางการดูแลรักษา ป้องกัน ควบคุม และส่งต่อผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา2019 หรือโรคโควิด 19 (Coronavirus Disease 2019 (COVID-19)) ของสถานพยาบาลประเภทที่รับผู้ป่วยไว้ค้างคืนและสถานพยาบาลประเภทที่ไม่รับผู้ป่วยไว้ค้างคืน พ.ศ. 2564” ฉบับใหม่ ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2564 โดยกำหนดให้ในกรณีที่โรงพยาบาลเอกชน หรือคลินิก ตรวจพบผู้ติดโรคโควิด 19 ที่มีอาการอยู่ในเกณฑ์สีเขียว ให้ดำเนินการแนะนำ และดูแลให้ผู้ป่วยรายดังกล่าวเข้ารับการรักษาในสถานพยาบาล ณ ที่พำนักของผู้ป่วย (Home Isolation) โดยสถานพยาบาลจะต้องให้การดูแล ส่งเครื่องวัดไข้ วัดออกซิเจนในเลือด ยา อาหาร วิดีโอคอลติดตามอาการของผู้ป่วยอย่างต่อเนื่อง และหากพบว่าผู้ป่วยมีอาการทรุดลงให้ประสานงานส่งต่อผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาลเพื่อความปลอดภัยต่อชีวิตของผู้ป่วย ดังนั้น จึงขอให้ผู้ประกอบกิจการโรงพยาบาลเอกชน และคลินิก คลายกังวลในปัญหาเตียงในสถานพยาบาลและเดินหน้าตรวจคัดกรองโรคโควิด 19 ให้ประชาชนกลุ่มเสี่ยงอย่างเต็มกำลัง เพื่อจำกัดการระบาดของโรคโควิด 19 ให้เร็วที่สุด
ด้านทันตแพทย์อาคม ประดิษฐสุวรรณ รองอธิบดีกรม สบส.กล่าวต่อว่า สำหรับเกณฑ์ของผู้ป่วยที่สามารถจะแยกกักตัว ณ ที่พำนักของผู้ป่วย ( Home Isolation) ได้นั้น ผู้ป่วยจะต้องไม่แสดงอาการ มีอายุน้อยกว่า 60 ปี สุขภาพร่างกายแข็งแรง อยู่คนเดียวหรือมีผู้ร่วมที่พักไม่เกิน 1 คน ไม่มีภาวะอ้วน โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคไตเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคเบาหวานที่ควบคุมไม่ได้ หรือโรคอื่นๆตามดุลยพินิจของแพทย์ และผู้ป่วยจะต้องลงนามในหนังสือแสดงความยินยอม/เจตนาในการแยกกักตัวที่บ้าน แต่สำหรับผู้ป่วยที่อยู่ในอาการเกณฑ์สีเหลือง สีแดง หรือผู้ป่วยที่ไม่สามารถรักษา ณ ที่พำนักของผู้ป่วยได้ หากอยู่ในเขตกรุงเทพมหานคร ขอให้ทางสถานพยาบาลเอกชนประสานศูนย์บริการสาธารณสุขกรุงเทพมหานคร แต่หากอยู่ในเขตจังหวัดอื่นให้ประสานสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด หรือสายด่วนสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 1330 หรือหน่วยงานอื่นตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดโดยทันที