รพ.สวนดอก คณะแพทยศาสตร์ มช. ร่วมกับ โรงพยาบาลประสาทเชียงใหม่ ผนึกกำลังอีกครั้ง ปรับห้อง ICU ความดันลบ 11 ห้อง รับผู้ป่วยหนัก COVID-19 ระลอกใหม่ ด้านรพ.มหาราชนครเชียงใหม่ ปรับปรุงหอผู้ป่วยโรคปอด ตึกนิมมานเหมินทร์ 10 เตียง รับผู้ป่วยตั้งครรภ์ ผ่าคลอดติดเชื้อโควิด-19
ผศ.นพ.นเรนทร์ โชติรสนิรมิต ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ เปิดเผยว่า “เนื่องจากในการระบาดระลอกใหม่นี้มีจำนวนผู้ป่วยปานกลางถึงหนักมากเพิ่มมากขึ้น ทำให้มีความจำเป็นจะต้องเปิดห้อง ICU ความดันลบ เพื่อรองรับผู้ป่วยโควิด-19 โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ จึงได้ประสานความร่วมมือกับโรงพยาบาลประสาทเชียงใหม่ อีกครั้ง ในการปรับห้อง ICU ความดันลบ จำนวน 10 เตียง ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นผู้ป่วยที่มีอาการหนัก เช่น ผู้ป่วยใส่ท่อช่วยหายใจ ผู้ป่วยมีอาการปอดอักเสบรุนแรง โดยจะมีบุคลากรทั้งแพทย์ และพยาบาล ที่เชี่ยวชาญในการดูแลผู้ป่วยวิกฤต จากคณะแพทยศาสร์ มช. มาดูแลผู้ป่วยทั้งหมด โดยใช้อุปกรณ์ที่ขนย้ายมาจากโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ มีการประสานกันทั้งอุปกรณ์และระบบยาต่างๆ ที่จะหมุนเวียนจากโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ เข้าไปใช้ ซึ่งเป็นการร่วมมือระหว่าง 2 องค์กร เพื่อดูแลผู้ป่วยในภาวะวิกฤตที่ทวีความรุนแรงขึ้นในขณะนี้อีกครั้ง
ขณะเดียวกัน หอผู้ป่วยโรคปอด อาคารนิมมานเหมินทร์ ที่ได้ให้บริการผู้ป่วยโควิด-19 ในรอบที่ 3 มาเป็นเวลายาวนาน เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาได้ปิดการให้บริการชั่วคราวเพื่อปรับปรุงห้องในระยะเวลาอันสั้น ได้แก่ ปรับปรุงกล้องวงจรปิด ระบบระบายอากาศ เปลี่ยนไส้กรอง เครื่องกรองอากาศ ประตู ผนัง ฝ้าเพดานที่ชำรุด และตรวจสอบระบบเพื่อความปลอดภัยของบุคลากร พร้อมทั้งได้ย้ายผู้ป่วยไปที่ห้องไอซียูโรงพยาบาลประสาทเชียงใหม่ และปัจจุบันจำนวนผู้ป่วยอาการหนักเพิ่มมากขึ้น ทางโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ จึงได้เปิดบริการหอผู้ป่วยหนักทั้ง 2 แห่ง โดยแบ่งอัตรากำลังแพทย์และพยาบาล ออกเป็น 2 ส่วน เพื่อรับมือกับสถานการณ์โควิด-19 ระลอกใหม่นี้ โดยรวมศักยภาพหอผู้ป่วยโรคปอดรับได้จำนวน 11 เตียง รพ.ประสาทเชียงใหม่ รับได้จำนวน 10 เตียง รวม 21 เตียง
สำหรับรับผู้ป่วยสีเหลือง สีส้ม และผู้ป่วยสีแดงที่ใส่เครื่องช่วยหายใจ และปัจจุบันที่ หอผู้ป่วยโรคปอด อาคารนิมมานเหมินทร์ มีผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 รายแรกเข้ารับรักษาแล้ว เป็นหญิงตั้งครรภ์ผ่าคลอด ตรวจพบเชื้อด้วยวิธีแรพิดแอนติเจนเทสต์ ผลเป็นบวก จึงผ่าคลอดในห้องผ่าตัดผู้ป่วยโควิด-19 และหลังผ่าตัดแล้วได้นำลูกไปห้องสังเกตอาการ ส่วนผู้ป่วยย้ายไปหอผู้ป่วยโรคปอด อาคารนิมมานเหมินทร์ซึ่งปรับปรุงเสร็จทันเวลา”
ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ กล่าวเพิ่มเติมว่า “ในอนาคตหากสถานการณ์รุนแรงมากขึ้น รพ.มหาราชนครเชียงใหม่ คณะแพทยศาสาตร์ มช. จะได้ดำเนินการเตรียมความพร้อมจัดหาสถานที่อื่นเพิ่มเติมในการรองรับผู้ป่วยเหมือนในระลอกที่ 3 โดยตอนนี้มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และคณะแพทยศาสตร์ มช. ได้เตรียมการ ในการหาพื้นที่บางส่วนในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่ไม่ใช่หอพักนักศึกษาไว้ในเบื้องต้น เพื่อเป็นการช่วยเหลือทางจังหวัดหากมีจำนวนผู้ป่วยเพื่มมากขึ้นจะได้ดำเนินการได้ในทันที
ภาพของการระบาดอย่างรุนแรงในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ในครั้งนี้ เชื่อว่าในอนาคตอันใกล้จะมีเชื้อของสายพันธ์อินเดียซึ่งติดได้ง่าย ลงปอดได้มาก อัตราการเสียชีวิตสูงมากขึ้น หากไม่อยากเห็นภาพการระบาดแบบนี้เกิดขึ้นที่จังหวัดเชียงใหม่ เราต้องช่วยกัน ไม่อยู่ที่แออัด ไม่ถอดหน้ากากพูดคุย ไม่ทานอาหารร่วมกัน ล้างมือบ่อยๆ รักษาระยะห่าง ขอความร่วมมือประชาชนปฏิบัติตามนี้อย่างเคร่งครัด และหากมีโอกาสได้รับการฉีดวัคซีน ขอให้สมัครเข้ารับวัคซีน เพื่อจะได้มีภูมิคุ้มกันระดับหนึ่ง ในการป้องกันการป่วยหนัก”
ที่มา ภาพ / ข่าว : กลุ่มงานสื่อสารองค์กร งานประชาสัมพันธ์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่