ราชกิจจาฯ ออกข้อกำหนด ยกระดับคุมโควิด-19 ขยายล็อกดาวน์ ปรับสีพื้นที่ หลังยอดติดเชื้อยังพุ่งไม่หยุด มีผล 3 ส.ค. 64 นี้

2057

ราชกิจจาฯ ออกข้อกำหนด ยกระดับคุมโควิด-19 ขยายล็อกดาวน์ ปรับสีพื้นที่ หลังยอดติดเชื้อยังพุ่งไม่หยุด มีผล 3 ส.ค. 64 นี้

เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2564 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศ ข้อกำหนด ออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนด การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 30) ระบุว่า ตามที่ได้มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตทั่วราชอาณาจักร ตั้งแต่ วันที่ 26 มี.ค. 2563 และต่อมาได้ขยายระยะเวลาบังคับใช้สถานการณ์ฉุกเฉินออกไปเป็นคราวที่ 13 จนถึงวันที่ 30 ก.ย. 2564 นั้น แต่สถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 ยังคงทวีความรุนแรง โดยเฉพาะไวรัสกลายพันธุ์สายพันธุ์เดลตา ที่ติดเชื้อกันง่ายและมีผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มสูงขึ้น

นายกรัฐมนตรีจึงออกข้อกำหนดและข้อปฏิบัติแก่ส่วนราชการทั้งหลายตามคำแนะนำของศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. ดังต่อไปนี้

1. การปรับปรุงเขตพื้นที่จังหวัดตามพื้นที่สถานการณ์ ให้ ศบค. มีคำสั่งปรับปรุงเขตพื้นที่จังหวัด จำแนกตามเขตพื้นที่สถานการณ์ตามบัญชีรายชื่อจังหวัดแนบท้ายคำสั่ง เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ การระบาดที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน โดยให้นำมาตรการควบคุมแบบบูรณาการที่กำหนดไว้สำหรับพื้นที่ สถานการณ์ระดับต่างๆ ข้อห้าม และข้อปฏิบัติตามข้อกำหนดที่ได้ประกาศไว้แล้วก่อนหน้านี้ มาใช้บังคับ เท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับข้อกำหนดนี้

2.การขยายเวลาการบังคับใช้มาตรการสำหรับพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด เพื่อการชะลอและลดแนวโน้มความรุนแรงของการระบาดที่จะเกิดขึ้นจากการประเมินสถานการณ์ของฝ่ายสาธารณสุข ซึ่งเห็นสมควรให้ดำเนินมาตรการเพื่อมุ่งจำกัดการเคลื่อนย้ายและการรวมกลุ่มของบุคคล ต่อเนื่องไป จึงกำหนดให้บรรดามาตรการ ข้อห้าม และข้อปฏิบัติสำหรับพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ตามที่กำหนดไว้ในข้อกำหนด (ฉบับที่ 28) ลงวันที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2564 ได้แก่ การลดและ จำกัดการเคลื่อนย้ายเดินทาง การห้ามออกนอกเคหสถานในระหว่างเวลา 21.00 นาฬิกา ถึง 4.00 นาฬิกา ของวันรุ่งขึ้น การขนส่งสาธารณะ การปฏิบัติงานของส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ และภาคเอกชน และมาตรการควบคุมบูรณาการเร่งด่วนสำหรับสถานที่ กิจการ หรือกิจกรรมที่มีความเสี่ยง รวมถึงบรรดามาตรการ หลักเกณฑ์ หรือแนวปฏิบัติที่พนักงานเจ้าหน้าที่หรือหน่วยงานที่รับผิดชอบ ได้กำหนดขึ้นภายใต้ข้อกำหนดดังกล่าวเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับข้อกำหนดนี้ ยังคงใช้บังคับต่อเนื่องออกไป สำหรับพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดทุกจังหวัด จนถึงวันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2564

3.การปรับเงื่อนไขการใช้เส้นทางคมนาคมและการตรวจคัดกรองการเดินทางในเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ให้พนักงานเจ้าหน้าที่และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตั้งจุดตรวจ ด่านตรวจ หรือจุดสกัด ในเส้นทางคมนาคมข้ามเขตจังหวัด และการเดินทางออกนอกเขต พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดไปยังพื้นที่อื่น เพื่อการตรวจคัดกรอง ชะลอ หรือสกัดกั้นการเดินทาง ของบุคคล

4.ห้ามจัดกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรค

  • พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดห้ามการจัดกิจกรรม ซึ่งมีการรวมกลุ่มของบุคคลที่มีจำนวนรวมกันมากกว่า 5 คน
  • พื้นที่ควบคุมสูงสุด ห้ามการจัดกิจกรรม ซึ่งมีการรวมกลุ่มของบุคคลที่มีจำนวนรวมกันมากกว่า 20 คน
  • พื้นที่ควบคุม ห้ามการจัดกิจกรรม ซึ่งมีการรวมกลุ่มของบุคคลที่มีจำนวนรวมกันมากกว่า 50 คน
  • พื้นที่เฝ้าระวังสูง ห้ามการจัดกิจกรรม ซึ่งมีกำรรวมกลุ่มของบุคคลที่มีจำนวนรวมกันมากกว่า 100 คน
  • พื้นที่เฝ้าระวัง ห้ามการจัดกิจกรรม ซึ่งมีการรวมกลุ่มของบุคคลที่มีจำนวนรวมกันมากกว่า 150 คน

5.กิจกรรมที่ได้รับยกเว้น

  • กิจกรรมเกี่ยวกับการขนส่งหรือขนย้ายประชาชน ได้แก่ การขนส่งประชาชนเพื่อเดินทางไปหรือออกจากที่เอกเทศตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ ศูนย์พักคอยรอการส่งตัว หรือสถานที่เพื่อการช่วยเหลือผู้ติดเชื้อในชั้นแรก
  • กิจกรรมเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลและการสาธารณสุข
  • กิจกรรมเกี่ยวกับการให้บริการ การให้ความช่วยเหลือหรืออำนวยประโยชน์หรือความสะดวกแก่ประชาชนการรวมกลุ่มของบุคคลตามปกติในที่พักอาศัย สถานที่ทำงาน การประชุมโดยวิธีการทำงอิเล็กทรอนิกส์ หรือการออกกำลังกายในสถานที่ตามที่ทางราชการกำหนด
  • กิจกรรมที่ดำเนินโดยพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือเป็นกิจกรรมที่จัดโดยองค์กรหรือหน่วยงานของรัฐโดยความเห็นชอบของหัวหน้าหน่วยงานดังกล่าว หรือกิจกรรมอื่นตามที่ ศปม. กำหนด

6.การปรับมาตรการควบคุมแบบบูรณาการเร่งด่วนสำหรับสถานที่ กิจการ หรือกิจกรรมที่มีความเสี่ยง ร้านจำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่มที่ตั้งอยู่ในห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์ หรือสถานประกอบกิจการอื่นที่มีลักษณะคล้ายกันเฉพาะในเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด เปิดดำเนินการได้จนถึงเวลา 20.00 นาฬิกา โดยให้ดำเนินการได้เฉพาะการจำหน่ายในรูปแบบการสั่งอาหารหรือเครื่องดื่มผ่านการบริการขนส่งอาหาร(Food Delivery Service) เท่านั้น

กลุ่มแรงงานก่อสร้างในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ให้เปิดหรือดำเนินการได้ภายใต้หลักเกณฑ์ มาตรการ และแนวทางกำกับติดตามประเมินผล ที่กระทรวงสาธารณสุขหรือทางราชการกำหนด ซึ่งรวมถึงการมีคำสั่งให้ผู้ประกอบการหรือผู้รับผิดชอบ ในพื้นที่หรือสถานที่ก่อสร้าง ดัดแปลงหรือรื้อถอนอาคาร ดำเนินมาตรการป้องกันควบคุมโรคในพื้นที่เฉพาะ(Bubble and Seal) เพื่อป้องกันการระบาดในแรงงานก่อสร้าง และเมื่อเกิดการระบาด ในพื้นที่ต้องมีการปรับระดับความเข้มข้นของมาตรการ

7. การปรับเงื่อนไขการใช้เส้นทางคมนาคมและการเดินทางของกลุ่มแรงงานก่อสร้าง ในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ให้ ศบค.มท. ศปม. กรุงเทพมหานคร และจังหวัด ปริมณฑล พิจารณาผ่อนคลายมาตรการคัดกรองการเดินทางเข้าออกของแรงงานก่อสร้างที่เดินทางข้าม เขตจังหวัดในเส้นทางคมนาคมเข้าออกกรุงเทพมหานครและจังหวัดปริมณฑล

8.มาตรการเพื่อการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดในกลุ่มแรงงานก่อสร้างทั่วราชอาณาจักร เพื่อประโยชน์ ในการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในกลุ่มแรงงานก่อสร้าง ในเขตพื้นที่อื่นนอกจากกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ให้ผู้ว่าราชการจังหวัด พิจารณามาตรการป้องกันและควบคุมโรคในพื้นที่เฉพาะ (Bubble and Seal) และมาตรการการเดินทางเคลื่อนย้ายระหว่างที่พักและสถานที่ทำงานถายใต้การกำกับควบคุม (Sealed Route) มาใช้บังคับให้เหมาะสมกับสถานการณ์การแพร่ระบาดในพื้นที่และลักษณะของพื้นที่หรือสถานที่ก่อสร้าง

9.มาตรการเพื่อการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดในกลุ่มแรงงานในสถานประกอบกิจการหรือโรงงานทั่วราชอาณาจักร ให้พนักงานเจ้าหน้าที่และเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อดำเนินการตรวจสอบ กำกับดูแล ประเมินผลการปฏิบัติ และให้ข้อเสนอแนะต่อผู้ประกอบการหรือผู้รับผิดชอบในสถานประกอบกิจการหรือโรงงานในการยกระดับมาตรฐานการปฏิบัติด้านสาธารณสุขของสถานประกอบกิจการหรือโรงงานและมาตรการป้องกันควบคุมโรคในพื้นที่เฉพาะ (Bubble and Seal)เพื่อป้องกันการระบาดของโรคติดเชื้อ โควิด-19 ตามหลักเกณฑ์และแนวทางที่ราชการกำหนด

หากมีกรณีเกิดการแพร่ระบาดขึ้นในสถานประกอบกิจการหรือโรงงาน ให้ผู้ประกอบการหรือผู้รับผิดชอบในสถานประกอบกิจการหรือโรงงานดำเนินการให้เป็นไปตามมาตรการป้องกันควบคุมโรคในพื้นที่เฉพาะ(Bubble and Seal) ซึ่งต้องมีการปรับระดับความเข้มข้นของมาตรการ

ทั้งนี้ ยังคงให้สถานประกอบกิจการหรือโรงงานดำเนินกิจการต่อไปภายใต้เงื่อนไขที่กำหนด มีมาตรการการเดินทางเคลื่อนย้ายระหว่างที่พักและสถานที่ทำงานภายใต้การกำกับควบคุม (Sealed Route) มีการบริหารจัดการในการแยกผู้ติดเชื้อ ผู้สัมผัสใกล้ชิด ผู้ที่ยังไม่ติดเชื้อ และกลุ่มเปราะบาง มีบริการด้านการแพทย์และสาธารณสุข รวมทั้งมีการจัดเครื่องอุปโภคบริโภคและสิ่งอำนวยความสะดวกตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดอย่างเคร่งครัด

การดำเนินการของสถานประกอบกิจการหรือโรงงานตามมาตรการป้องกันควบคุมโรคในพื้นที่เฉพาะ (Bubble and Seal) และมาตรการการเดินทางเคลื่อนย้ายระหว่างที่พักและสถานที่ทำงานภายใต้ การกำกับควบคุม (Sealed Route) ดังกล่าว ให้เป็นไปตามมาตรการควบคุมโรค หลักเกณฑ์ และ แนวปฏิบัติที่ ศปก.ศบค. ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย กระทรวงแรงงาน กระทรวงอุตสาหกรรม กรุงเทพมหานคร จังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำหนด โดยให้มีการกำกับ ติดตามผลการดำเนินงานเป็นระยะต่อไป

10.การกำหนดมาตรการเพิ่มเติมของแต่ละจังหวัด เพื่อให้การป้องกันและควบคุมการระบาดของโรคสอดคล้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครหรือผู้ว่าราชการจังหวัดอาจพิจารณาดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ ในการสั่งปิด จำกัด หรือห้ามการดำเนินการของสถานที่ กิจการ หรือสั่งให้งดการทำกิจกรรมอื่นในเขตพื้นที่รับผิดชอบเป็นการเพิ่มเติมนอกเหนือจากมาตรการควบคุมแบบบูรณาการที่ส่วนกลางกำหนดได้ โดยให้เป็นไปตามแนวปฏิบัติที่ ศปก.ศบค. หรือ ศบค.มท. กำหนด

11.การบังคับใช้มาตรการตามข้อกำหนด ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจสอบและกำกับการปฏิบัติตามมาตรการ ข้อห้าม และข้อปฏิบัติตามข้อกำหนดนี้ เป็นระยะเวลาต่อเนื่องจนถึงวันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2564 โดยให้ประเมินสถานการณ์และความเหมาะสมของมาตรการตามข้อกำหนดนี้ทุกห้วงระยะเวลา 14 วัน

ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2564 เป็นต้นไป

ประกาศ ณ วันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2564 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี