กรมการแพทย์ โดยสถาบันโรคผิวหนัง ไขข้อข้องใจเรื่องกลิ่นตัว พร้อมให้ข้อมูลเกี่ยวกับสาเหตุของกลิ่นตัวไม่พึงประสงค์ ซึ่งอาจส่งผลต่อกระทบคุณภาพชีวิต การเข้าสังคม รวมถึงสุขภาพจิตของผู้ที่มีปัญหานี้ พร้อมแนะวิธีการป้องกัน และแนวทางการรักษากลิ่นตัว
กรมการแพทย์ โดยสถาบันโรคผิวหนัง ให้ข้อมูลเกี่ยวกับสาเหตุของกลิ่นตัวไม่พึงประสงค์ ซึ่งอาจส่งผลต่อกระทบคุณภาพชีวิต การเข้าสังคม รวมถึงสุขภาพจิตของผู้ที่มีปัญหานี้ พร้อมแนะวิธีการป้องกัน และแนวทางการรักษากลิ่นตัว
นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า กลิ่นตัวเป็นปัญหาที่พบได้ทั้งในเพศหญิงและเพศชาย พบบ่อยในช่วงท้ายของวัยรุ่นจนถึงช่วงเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ สาเหตุหลักของการเกิดกลิ่นตัว ได้แก่
1. แบคทีเรียประจำถิ่นบริเวณรักแร้ ซึ่งจะมีจำนวนเพิ่มขึ้นจากความร้อนและความชื้นของอากาศ
2. การสร้างเหงื่อจากต่อมเหงื่อชนิดอะโพครายน์ (Apocrine sweat glands) ในผู้ที่มีกลิ่นตัวอาจมีต่อมเหงื่อใต้
ผิวหนังชนิดนี้ขนาดใหญ่และมีจำนวนมาก ต่อมเหงื่อนี้ยังถูกกระตุ้นได้ด้วยฮอร์โมนเพศชาย Androgen
เมื่อเหงื่อรวมกับแบคทีเรียประจำถิ่น จึงทำให้เกิดกลิ่นตัว การมีกลิ่นตัวมากหรือน้อยขึ้นกับทั้งสองปัจจัยข้างต้นของแต่ละบุคคล และมีปัจจัยกระตุ้น เช่น โรคอ้วน โรคเบาหวาน การรับประทานอาหารรสจัด หรืออาหารที่มีเครื่องเทศ หอม กระเทียม, การรับประทานยาบางชนิด หรือความเครียด เป็นต้น
แพทย์หญิงมิ่งขวัญ วิชัยดิษฐ ผู้อำนวยการสถาบันโรคผิวหนัง กรมการแพทย์ ให้คำแนะนำเพิ่มเติมว่า การป้องกันการเกิดกลิ่นตัว ทำได้โดย
1. รักษาสุขอนามัยให้สะอาดอยู่เสมอ ไม่ใส่เสื้อผ้าซ้ำ
2. ลดเหงื่อ โดยใช้ผลิตภัณฑ์ลดเหงื่อ ซึ่งมีขายทั่วไปในท้องตลาด มีทั้งชนิดที่มีน้ำหอมเพื่อกลบกลิ่น และชนิดที่ไม่มีน้ำหอม
3. กำจัดหรือโกนขนบริเวณรักแร้
4. การใช้สบู่ที่มีฤทธิ์ต้านแบคทีเรีย จะช่วยลดแบคทีเรียประจำถิ่นได้ แต่ไม่ควรใช้ติดต่อกันเป็นเวลานาน
ผู้อำนวยการสถาบันโรคผิวหนัง กล่าวเพิ่มเติมว่า หากปฏิบัติตามวิธีดังกล่าวแล้ว ยังไม่ได้ผล หรือมีอาการแพ้ผลิตภัณฑ์ที่ใช้ ควรไปพบแพทย์ผิวหนัง ซึ่งจะสามารถประเมินความรุนแรง ประเมินโรคร่วมอื่น เช่น การติดเชื้อรา เชื้อแบคทีเรีย หาสาเหตุของการแพ้สารเคมีหรือน้ำหอมในผลิตภัณฑ์ที่ใช้ และเลือกวิธีการรักษาที่เหมาะสมในแต่ละราย การรักษากลิ่นตัวโดยทั่วไป เริ่มต้นจาก การใช้ยาทากลุ่ม Aluminium chloride หากไม่ได้ผล จึงจะพิจารณาการรักษาในลำดับถัดไป เช่น การฉีด Botulinum toxin, การทำ Tap water iontophoresis ไปจนถึงการผ่าตัด
*****************************************
ที่มา : กรมการแพทย์โดยสถาบันโรคผิวหนัง