คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ แนะ วัคซีนโควิด-19 กับหญิงตั้งครรภ์ ซึ่งมีโอกาสที่จะติดเชื้อได้โควิด ได้ง่าย และมีอาการที่รุนแรงมากกว่าบุคคลทั่วไป พร้อมชี้ถึงการฉีดวัคซีนโควิด-19 มีความจำเป็นต่อสตรีตั้งครรภ์ และสตรีให้นมบุตร

74

คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ แนะ วัคซีนโควิด-19 กับหญิงตั้งครรภ์ ซึ่งมีโอกาสที่จะติดเชื้อได้โควิด ได้ง่าย และมีอาการที่รุนแรงมากกว่าบุคคลทั่วไป พร้อมชี้ถึงการฉีดวัคซีนโควิด-19 มีความจำเป็นต่อสตรีตั้งครรภ์ และสตรีให้นมบุตร

 

จากการรวบรวมข้อมูลอย่างไม่เป็นทางการของกรมอนามัย ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2563 จนกระทั่งถึงวันที่ 17 กรกฎาคม 2564 มีหญิงตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อโควิด-19 ประมาณ 856 ราย และมีแนวโน้มที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในจำนวนนี้ มีผู้เสียชีวิต 15 ราย นับเป็น 1.7 % จึงพอสรุปได้ว่าหญิงตั้งครรภ์มีโอกาสที่จะติดเชื้อสูง มีอาการที่รุนแรงกว่าบุคคลทั่วไป ส่งผลให้อีก 1 ชีวิตที่อยู่ในครรภ์ เสียชีวิต หรือคลอดก่อนกำหนด แม้กระทั่งเสียชีวิตหลังจากที่คลอดแล้ว จากการรายงานพบทารกเสียชีวิต 6 ราย ในจำนวนนี้ยังมีการติดเชื้อโควิด-19 โดยได้รับการ Swab ประมาณ 60 กว่าราย แสดงว่าเมื่อทารกคลอดออกมาแล้ว ยังได้รับการดูแลเหมือนผู้ป่วยที่ติดโควิด-19 เพียงแต่ว่าทารกเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มที่มีอาการน้อย ด้วยเหตุปัจจัยทางร่างกาย
เมื่อเปรียบเทียบระหว่างหญิงตั้งครรภ์กับบุคคลทั่วไป มีโอกาสที่จะติดเชื้อได้ง่าย มีปัจจัยที่จะสุ่มเสี่ยงต่อการมีอาการที่รุนแรงมากขึ้น หากติดเชื้อโควิด-19 เช่นระบบกลไกการแข็งตัวของเลือด ระบบการเผาผลาญต่างๆ อาทิ การเป็นเบาหวานได้ง่าย รวมทั้งน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้น ระบบต่างๆที่เปลี่ยนแปลงในสตรีตั้งครรภ์ ซึ่งโดยธรรมชาติเป็นตัวช่วยกระบวนการทำงานในร่างกายได้ดี แต่เมื่อประสบในเรื่องของโควิด-19 ปัจจัยเหล่านี้อาจทำให้เกิดอาการที่รุนแรงมากขึ้น
จากการรายงานโควิด-19 หญิงตั้งครรภ์ในอเมริกา พบว่าหากติดเชื้อ มีโอกาสเกิดอาการถึง 45 % ต้องรับการรักษาใน ICU จำนวน 16 % เสียชีวิต 1 % และแท้ง 2 % หากเทียบกับหญิงไม่ตั้งครรภ์ พบว่าหญิงตั้งครรภ์มีโอกาสติดโควิด-19 ได้มากกว่า พบว่านอนโรงพยาบาลมากกว่า 5.4 เท่า เข้ารับการรักษาในห้อง ICU มากกว่า 1.5 เท่า และใส่เครื่องช่วยหายใจมากกว่า 1.7 เท่าของคนทั่วไปที่ติดเชื้อ
โดยภาพรวม หญิงตั้งครรภ์ที่ติดโควิด-19 จะมีอาการที่รุนแรงมากกว่าบุคคลทั่วไป และอาการเหล่านี้มีโอกาสที่จะรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ ดังนั้นนอกจากประชาชนที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป มีโรคประจำตัว 7 โรค ที่จะต้องเข้ารับการฉีดวัคซีนแล้ว หญิงตั้งครรภ์จึงถูกเพิ่มขึ้นมาให้ได้รับการฉีดวัคซีน เพื่อป้องกันโควิด-19 แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความต้องการของหญิงตั้งครรภ์ด้วยว่าต้องการรับวัคซีนป้องกันโควิด-19 หรือไม่
ปัจจัยที่ส่งผลให้หญิงตั้งครรภ์เกิดความกังวลใจ คือเรื่องของ
ความปลอดภัย และประสิทธิภาพของวัคซีน ซึ่งทั้ง 2 ปัจจัยเหล่านี้ขึ้นอยู่กับแพทย์ที่จะให้ข้อมูลเพื่อสร้างความเชื่อมั่น ในตัวประสิทธิภาพของวัคซีน การใส่หน้ากากอนามัย , ล้างมือ และเว้นระยะห่าง จะช่วยลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อได้ การได้รับวัคซีนยังช่วยลดความรุนแรงของการติดเชื้อ ป้องกันการเสียชีวิต ป้องกันการต้องรับการรักษาในห้อง ICU และป้องกันการใส่เครื่องช่วยหายใจ หากมีการติดเชื้ออีกด้วย
สำหรับประสิทธิภาพในขณะนี้วัคซีนทุกยี่ห้อสามารถช่วยป้องกันการติดเชื้อ แต่ขึ้นอยู่กับวิธีการแปลผล ซึ่งจะแปลผลไปตามภูมิต้านทานในตัวบุคคลนั้นๆ หลังการฉีดวัคซีน ในขณะเดียวกันมีการกลายพันธุ์ของเชื้อโควิด-19 วัคซีนที่มีอยู่อาจจะได้รับการปรับเปลี่ยนไปตามสถานการณ์ ขึ้นอยู่กับพื้นที่ของประเทศนั้นๆที่จะได้รับวัคซีนในแต่ละยี่ห้อ
นอกจากนี้งานวิจัยด้านโควิด-19 ก็ย่อมแตกต่างกันอีกด้วย อย่างไรก็ตามในปัจจุบันมีข้อมูลบ่งชี้ว่าประสิทธิภาพของวัคซีนบางชนิดอาจสูงไม่มากพอ โดยเฉพาะการต่อสู้กับเชื้อที่กลายพันธุ์
ด้านความปลอดภัยของหญิงตั้งครรภ์กับการได้รับวัคซีนโควิด-19 ได้รับข้อมูลการตีพิมพ์ในเดือนที่ผ่านมา พบว่าเมื่อหญิงตั้งครรภ์ได้รับวัคซีนแล้ว ภูมิต้านทานดีขึ้น ไม่พบผลเสียแต่อย่างใด อย่างไรก็ตามต้องมีการติดตามไปจนถึงการคลอดว่า เมื่อคลอดออกมาแล้วเด็กโตขึ้นจะมีพัฒนาการเป็นอย่างไร ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาในการติดตามงานวิจัยต่อไป
อย่างไรก็ตามด้วยเชิงนโยบายของรัฐบาลในประเทศไทย ณ ขณะนี้ การฉีดวัคซีนโควิด-19 มีความจำเป็นต่อสตรีตั้งครรภ์ และสตรีให้นมบุตร ซึ่งสามารถติดต่อแจ้งความประสงค์ในการเข้ารับวัคซีนยังโรงพยาบาลที่ท่านฝากครรภ์ได้
ที่มา : ขอขอบคุณข้อมูลจาก: รศ.นพ.ชเนนทร์ วนาภิรักษ์ หัวหน้าหน่วยเวชศาสตร์มารดาและทารก
ภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มช.
ลิ้งค์บทความ : https://www.facebook.com/medcmuth/posts/4307827902588866