ครม. เห็นชอบ! ระเบียบสารบรรณอิเล็กทรอนิกส์ ให้หน่วยงานรัฐต้องใช้ ‘อีเมล’ ในการสื่อสารเป็นหลัก มีผล 23 ส.ค. 64 นี้

616

ครม. เห็นชอบ! ระเบียบสารบรรณอิเล็กทรอนิกส์ ให้หน่วยงานรัฐต้องใช้ ‘อีเมล’ ในการสื่อสารเป็นหลัก มีผล 23 ส.ค. 64 นี้

เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2564 คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) เสนอ เรื่อง การพัฒนาระบบนิเวศทางกฎหมายเพื่อเร่งรัดให้เกิด Digital government ซึ่งเป็นการดำเนินการที่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ยุทธศาสตร์ชาติ และนโยบายของคณะรัฐมนตรี รวมทั้งเป็นประโยชน์ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019

สคก. เสนอว่า โดยที่นายกรัฐมนตรีมีข้อสั่งการในการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2564 ให้ สคก. พัฒนาระบบนิเวศทางกฎหมาย (Legal Ecosystem) เพื่อเร่งรัดให้เกิด Digital government ซึ่ง สคก. ได้ดำเนินการแล้ว โดยสรุปได้ดังนี้

1. จัดทำร่างพระราชบัญญัติการปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. …. โดยมีสาระสำคัญเป็นการกำหนดให้การยื่นคำขอหรือติดต่อใด ๆ ระหว่างประชาชนกับหน่วยงานของรัฐ การติดต่อราชการระหว่างหน่วยงานของรัฐด้วยกันและระหว่างเจ้าหน้าที่ภายในหน่วยงานของรัฐ สามารถทำโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ได้โดยชอบด้วยกฎหมาย ขณะนี้ร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวอยู่ในระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎร

2. จัดทำระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยงานสารบรรณ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2564 (ระเบียบสารบรรณอิเล็กทรอนิกส์) และได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาตั้งแต่วันที่ 25 พฤษภาคม 2564 แล้ว โดยหน่วยงานของรัฐต้องใช้อีเมลในการสื่อสารเป็นหลักตั้งแต่วันที่ 23 สิงหาคม 2564 เป็นต้นไป ซึ่งจะทำให้สามารถพัฒนาต่อยอดไปใช้ในการจัดทำระบบข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ได้

3. ปรับปรุงกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันเพื่อให้ภาคเอกชนสามารถดำเนินงานทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ โดยตรวจสอบกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันที่เป็นปัญหาอุปสรรคสำหรับภาคเอกชนที่จะนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการดำเนินกิจกรรมและได้ร่วมกับกระทรวงพาณิชย์จัดทำร่างพระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัด (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. (แก้ไขเพิ่มเติมให้ทันสมัย 6 ประเด็น) ที่มีสาระสำคัญเป็นการปรับปรุงให้บริษัทมหาชนจำกัด และคณะกรรมการบริษัทมหาชนจำกัดสามารถกิจกรรมต่าง ๆ ด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎร นอกจากนี้อยู่ระหว่างพิจารณาปรับปรุงแก้ไขบทบัญญัติของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 3 ลักษณะ 22 หุ้นส่วนบริษัท เพื่อให้ห้างหุ้นส่วนและบริษัทจำกัดสามารถดำเนินงานด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ได้เช่นเดียวกัน

4. ปรับปรุงวิธีการเขียนกฎกระทรวงและกฎหมายลำดับรองอื่นให้หน่วยงานของรัฐให้บริการแก่ประชาชนโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์เป็นหลักตามมาตรา 8 และมาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติการอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ. 2558 ซึ่งได้กำหนดแนวทางการเขียนกฎกระทรวงและกฎหมายลำดับรองอื่นให้ดำเนินการด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์เป็นหลักมาตั้งแต่วันที่ 9 กรกฎาคม 2563 และปัจจุบันกฎหมายลำดับรองระดับกฎกระทรวงที่ผ่านการพิจารณาทั้งหมด 75 ฉบับ รองรับการดำเนินการโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์แล้ว

5. จัดทำระบบกลางทางกฎหมาย เพื่อให้เป็นแพลตฟอร์มกลางเกี่ยวกับกฎหมายที่ให้บริการแบบจุดเดียวเบ็ดเสร็จ (one stop service) แก่หน่วยงานของรัฐและประชาชน โดยในขณะนี้ระบบกลางได้เปิดให้บริการในส่วนของการรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างกฎหมายข้อมูลรายยงานการวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมาย (RIA) และข้อมูลรายงานการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย ตั้งแต่วันที่ 2 สิงหาคม 2564 แล้ว สำหรับการดำเนินการระยะถัดไปจะเป็นการขยายการให้บริการข้อมูลกฎหมายทั้งหมดของประเทศโดยมีกำหนดแล้วเสร็จสมบูรณ์ภายในเดือนกรกฎาคม 2565