รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ ย้ำประชาชนที่เดินทางไปทำงานในจังหวัดลำพูน ต้องมีการป้องกันและระมัดระวังตนเองอย่างเคร่งครัด หลังเริ่มพบการระบาดของโควิด-19 ในบางบริษัทที่นิคมอุตสาหกรรมลำพูนแล้ว ด้านการฉีดวัคซีนขณะนี้ได้เร่งฉีดในกลุ่ม 608 เพราะเสี่ยงต่อการป่วยรุนแรงและเสียชีวิต
วันนี้ (24 ส.ค. 64) ที่ห้องประชุม 4 ชั้น 4 อาคารอำนวยการ ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ นายแพทย์วรัญญู จำนงประสาทพร รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยในการแถลงข่าวสื่อมวลชนประจำสัปดาห์ ถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในห้วงสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยมีนายชัชวาลย์ ฉายะบุตร รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานการแถลงข่าวฯ ว่า ขณะนี้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในภาพรวมของจังหวัดเชียงใหม่ถือว่าเริ่มดีขึ้น โดยพบผู้ติดเชื้อที่เดินทางมาจากพื้นที่อื่นๆ ลดน้อยลง โดยการติดเชื้อหลักๆ ส่วนใหญ่พบจากการตรวจหาเชื้อที่จุดตรวจเฉพาะกิจในเส้นทางการคมนาคม รวมถึงการแพร่กระจายเชื้อในสถานที่ทำงาน และครอบครัว โดยเฉพาะในสถานที่ทำงาน ที่เกิดจากการสัมผัสกับพนักงานส่งของที่เดินทางมาจากพื้นที่สีแดงเข้ม จนเกิดการแพร่กระจายเชื้อไปสู่โรงงาน และสถานที่ทำงาน
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ต้องเฝ้าระวังอย่างเข้มข้นในขณะนี้ คือ การติดเชื้อในโรงงานที่จังหวัดลำพูน ซึ่งพนักงานส่วนหนึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ในจังหวัดเชียงใหม่ และมักจะเดินทางระหว่างจังหวัดเป็นประจำ จึงอาจเกิดการแพร่กระจายของเชื้อเข้ามาในจังหวัดเชียงใหม่ได้ ทั้งนี้ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดลำพูน จึงได้มีการดำเนินการร่วมกัน โดยได้รวบรวมรายชื่อผู้ที่ไปทำงานในโรงงานต่าง ๆ ในจังหวัดลำพูน เพื่อเฝ้าระวังและติดตามในการปฏิบัติตามมาตรการของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดเชียงใหม่ โดยเฉพาะ การควบคุมการเดินทางของพนักงานบริษัท แพนดอร่า โปรดักชั่น จำกัด เข้ามาในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ที่ได้กำหนดให้พนักงานทุกคนต้องบันทึกข้อมูลลงในระบบ “CM-CHANA” ก่อนเดินทางเข้ามาในจังหวัดเชียงใหม่ และให้รายงานตัวต่อเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อในพื้นที่ทันที พร้อมตรวจหาเชื้อโควิด-19 (SWAB) และกักตัวเป็นเวลา 14 วัน ขณะเดียวกัน ได้เน้นย้ำให้ประชาชนชาวเชียงใหม่ที่เดินทางไปทำงานในจังหวัดลำพูน ให้ป้องกันและระมัดระวังตนเองอย่างเคร่งครัด หากพบว่ามีอาการผิดปกติ ให้เข้ารับการตรวจหาเชื้อทันที ซึ่งขณะนี้เริ่มพบว่ามีการติดเชื้อในบางบริษัทที่นิคมอุตสาหกรรมลำพูนแล้ว
ด้านการบริหารจัดการวัคซีน จังหวัดเชียงใหม่ได้รับการจัดสรรวัคซีนซิโนแวค เพิ่มมาอีก 40,000 โดส และแอสตร้า เพิ่มมาอีก 50,000 โดส โดยวัคซีนซิโนแวค 40,000 โดส จะฉีดในกลุ่มเป้าหมาย 608 ได้แก่ กลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป กลุ่ม 7 โรคเรื้อรัง และกลุ่มหญิงตั้งครรภ์ 12 สัปดาห์ขึ้นไป เนื่องจากเป็นกลุ่มเสี่ยงที่มีสถิติการป่วยรุนแรงและเสียชีวิต และจะใช้ในแคมเปญการฉีดวัคซีนแก่ “กลุ่มคนอ้วน” ที่มีน้ำหนักดัชนีมวลกายเกิน 30 หรือผู้ชายน้ำหนัก 90 กิโลกรัมขึ้นไป และผู้หญิงน้ำหนัก 70 กิโลกรัมขึ้น ซึ่งเป็นอีกหนึ่งกลุ่มเสี่ยงที่มีโอกาสป่วยรุนแรงหากติดเชื้อโควิด-19 ส่วนแอสตร้าเซเนก้า 50,000 โดส จะเป็นเข็มที่ 2 สำหรับกลุ่มที่ได้รับการฉีดวัคซีนเข็มที่ 1 ไปในห้วงก่อนหน้านี้ และกลุ่มที่ได้รับวัคซีนเข็มที่ 1 มาแล้วจากพื้นที่อื่น โดยเฉพาะจากกรุงเทพมหานคร เพราะหากมีการกลับไปฉีดในพื้นที่เสี่ยง ก็กังวลว่าอาจเกิดการแพร่กระจายของเชื้อได้
ส่วนการฉีดวัคซีนกระตุ้นให้กับประชาชนกลุ่มอื่น ๆ หลังจากได้ฉีดให้แก่ลุ่มเป้าหมายที่มีโอกาสป่วยหนักรุนแรงครบถ้วนแล้ว จะได้ทยอยกระจายฉีดไปในกลุ่มเสี่ยงอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ อาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) ทหาร ตำรวจ ผู้นำชุมชน เจ้าหน้าที่ ๆ จะต้องไปสัมผัสกับบุคคลจำนวนมาก โดยคาดว่าไม่เกินสิ้นปีนี้ จะได้ทยอยกระตุ้นเข็มที่ 3 ในกลุ่มประชาชนทั่วไป รวมถึงผู้ที่ยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีน ซึ่งมีอีกกว่า 70 เปอร์เซ็นต์
ข่าว : นันธิกา กิจปาโล – สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงใหม่