ด่วน! กรมวิทย์ฯ แถลง พบโควิด ‘เดลต้า’ สายพันธุ์ย่อยในไทย พบแล้วใน 8 จังหวัด เชียงใหม่เจอแล้ว 1 ราย

1999

ด่วน‼ กรมวิทย์ฯ แถลง พบโควิด ‘เดลต้า’ สายพันธุ์ย่อยในไทย พบแล้วใน 8 จังหวัด เชียงใหม่เจอแล้ว 1 ราย

วันที่ 24 ส.ค. 64 นายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ พร้อมด้วย นายแพทย์บัลลังก์ อุปพงศ์ รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ นายแพทย์อาชวินทร์ โรจนวิวัฒน์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข และนายแพทย์สุรัคเมธ มหาศิริมงคล ผู้อำนวยการสถาบันชีววิทยาศาสตร์ทางการแพทย์ ร่วมแถลงข่าวผ่านทางระบบออนไลน์ ประเด็น การเฝ้าระวังสายพันธุ์ และการกลายพันธุ์โควิด 19 และการพบสายพันธุ์ย่อยของเดลตาในไทย ​ว่า ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมามีการตรวจไป 2,295 ตัวอย่าง พบเดลตามากที่สุด โดยภาพรวมประเทศอยู่ที่ 92.9% สรุปสายพันธุ์เดลตากระจายอยู่ทั่วประเทศ
 
โดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ พบผู้ติดเชื้อโควิดสายพันธุ์ย่อยของเดลตาในไทย หลังจากได้ตรวจสอบพันธุกรรมของเชื้อไวรัส พบความเปลี่ยนแปลงจากการกลายพันธ์ุ ซึ่งตามปกติโควิด-19 สายพันธุ์เดลตา นอกจากจะมีสายพันธุ์หลักเป็น “B.1.617.2” แล้วยังกระจายตัวแตกเป็นสายพันธุ์ย่อยอีกถึง 27 สายพันธุ์ และเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
 
นพ.สุรัคเมธ มหาศิริมงคล ผู้อำนวยการสถาบันชีววิทยาศาสตร์ทางการแพทย์ กล่าวว่า โดยกระบวนการทางกรมวิทย์ฯจะมีการถอดรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนม เป็นการนำตัวไวรัสมาถอดรหัสพันธุกรรมใช้เวลาประมาณ 3-5 วัน ล่าสุดจากการถอดรหัส 1,955 ตัวอย่างที่สุ่มตั้งแต่เดือนพ.ค. พบเป็นสายพันธุ์อัลฟ่า 71% สายพันธุ์เดลตา 23% ทั้งนี้โควิดสายพันธุ์เดลตานอกจากมีสายพันธุ์หลักเป็น B.1.617.2 แล้วยังกระจายตัวแตกเป็นสายพันธุ์ย่อยอีกถึง 27 สายพันธุ์ในทั่วโลก และเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ คือ B.1.617.2.1 – B.1.617.2.22 หรือเรียกให้สั้นว่า AY.1 – AY.22
 
โดยสายพันธุ์ย่อยของเดลต้าที่พบในไทย มีดังนี้
– AY.4 ช่วงที่พบเดือน มิ.ย.-ส.ค. ในพื้นที่ ปทุมธานี 4 ราย บุรีรัมย์ 1 ราย กำแพงเพชร 1 ราย เชียงใหม่ 1 ราย สมุทรปราการ 1 ราย ชลบุรี 1 ราย
– AY.6 ช่วงที่พบเดือน ก.ค. ในพื้นที่ กทม. 1 ราย
– AY.10 ช่วงที่พบเดือน ก.ค. ในพื้นที่ กทม.1 ราย
– AY.12 ช่วงที่พบเดือน ก.ค.-ส.ค. ในพื้นที่ กทม. 1 ราย สุราษฎร์ธานี 2 ราย
 
นพ.สุรัคเมธ กล่าวต่อว่า สายพันธุ์ย่อยที่พบมีการกลายพันธุ์ที่จำเพาะแต่ละสายพันธุ์ ขณะนี้ยังไม่ทราบว่าความรุนแรงเพิ่มขึ้นหรือไม่ แต่ลักษณะการแพร่กระจาย ยังไม่กระจายในวงกว้าง ทั้งนี้ ต้องติดตามเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด โดยทางสถาบันฯ จะถอดรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนมไปตลอดปี 2564