กรมอนามัย หนุนให้คนไทยทุกกลุ่มวัย มีกิจกรรมทางกายในชีวิตประจำวันเพิ่มขึ้นและลดพฤติกรรมเนือยนิ่ง ในสถานการณ์โควิด-19
เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2564 นายแพทย์บัญชา ค้าของ รองอธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยภายหลังเป็นประธานประชุมคณะกรรมการบริหารส่งเสริมกิจกรรมทางกาย ณ ห้อง 2 อาคาร 1 สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ว่า ประเทศไทยได้มุ่งเน้นในประเด็นเรื่องโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เนื่องจากกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรังเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตไม่น้อยกว่า 36 ล้านคนทั่วโลกในแต่ละปี หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 63 ของสาเหตุการตายทั้งหมด ซึ่งการมีกิจกรรมทางกายไม่เพียงพอ ได้ถูกกำหนดให้เป็นปัจจัยเสี่ยงอันดับที่ 4 ของสาเหตุการเสียชีวิตของประชากรโลก เนื่องจากการมีกิจกรรมทางกายไม่เพียงพอนำไปสู่การเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง โดยพบว่าการมีกิจกรรมทางกายไม่เพียงพอส่งผลให้เกิดการเสียชีวิต 3.2 ล้านคนต่อปีของทั้งโลก และคนไทยมีอัตราการเสียชีวิตจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรังสูงถึง ร้อยละ 71 ของการเสียชีวิตทั้งหมด และก่อให้เกิดภาระค่าใช้จ่ายทางสุขภาพ ซึ่งจากข้อมูลของสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดลได้สำรวจระดับกิจกรรมทางกายและพฤติกรรมเนือยนิ่ง ในช่วง 10 ปี พบว่า ประชากรไทยมีกิจกรรมทางกายไม่เพียงพอ และระยะเวลาการมีพฤติกรรมเนือยนิ่งในแต่ละวันไม่รวมเวลานอนหลับนั้นสูงเกือบ 14 ชั่วโมงต่อวัน และมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น
นายแพทย์บัญชา กล่าวต่อไปว่า กรมอนามัยร่วมกับและภาคีเครือข่ายได้จัดทำแผนการส่งเสริมกิจกรรมทางกาย พ.ศ.2561–2573 ที่มีเป้าหมายให้ประชาชนมีวิถีชีวิตที่กระฉับกระเฉงด้วยกิจกรรมทางกายในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม ภายใต้ 3 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ 1) การส่งเสริมกิจกรรมทางกายประชาชนทุกกลุ่มวัย 2) การส่งเสริมสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการมีกิจกรรมทางกาย และ 3) การพัฒนาระบบสนับสนุนการส่งเสริมกิจกรรมทางกาย เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอตามแผนการส่งเสริมกิจกรรมทางกาย (พ.ศ. 2561 – 2573) ซึ่งได้จัดทำโครงการขับเคลื่อนแผนการส่งเสริมกิจกรรมทางกาย พ.ศ. 2561-2573 ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 โดยร่วมกับภาคีเครือข่าย อาทิ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ศูนย์พัฒนาองค์ความรู้ด้านกิจกรรมทางกายประเทศไทย (TPAK) สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ในการสื่อสาร ประชาสัมพันธ์และสร้างการรับรู้และความเข้าใจเรื่องกิจกรรมทางกายให้แก่ประชาชนทุกกลุ่มวัย ผ่านช่องทางออนไลน์ เช่น platform ก้าวท้าใจ, facebook, YouTube, Banner บนเว็ปไซต์, line, Live Streaming รวมทั้งลงพื้นที่ประชาสัมพันธ์ในโรงเรียน ชุมชน และโรงงาน นอกจากนี้ยังได้ดำเนินการขับเคลื่อนระบบสนับสนุนการส่งเสริมกิจกรรมทางกายทั้ง 5 ระบบ ได้แก่ ระบบการสร้างองค์ความรู้ และวิจัยกิจกรรมทางกาย ระบบพัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบาย ระบบพัฒนาศักยภาพบุคลากร ระบบการสื่อสารรณรงค์ และระบบติดตามการส่งเสริมกิจกรรมทางกาย
“ทั้งนี้ ผลการดำเนินงานการขับเคลื่อนแผนการส่งเสริมกิจกรรมทางกาย โดยเฉพาะแพลตฟอร์มก้าวท้าใจ ที่พัฒนาเพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการออกกำลังกายและความรอบรู้ด้านสุขภาพที่ถูกต้อง รวมถึงส่งเสริมให้บุคลากรสาธารณสุขเป็นต้นแบบด้านสุขภาพ โดยนำเทคโนโลยีมาใช้ในการส่งเสริมการออกกำลังกาย ซึ่งมีผู้เข้าร่วมกิจกรรม จำนวน 3,255,743 คน โดยพบว่าสัดส่วนของผู้มี BMI ปกติเพิ่มขึ้น ตามระดับการมีกิจกรรมทางกายที่เพิ่มขึ้น คือ ผู้มีกิจกรรมทางกายไม่เพียงพอ มี BMI ปกติ ร้อยละ 38.89 ผู้มีกิจกรรมทางกายเพียงพอ มี BMI ปกติร้อยละ 41.60 และ ผู้มีกิจกรรมทางกายสูง มี BMI ปกติร้อยละ 43.37 นอกจากนี้ กิจกรรมนี้ยังสามารถสร้างกระบวนการสร้างสุขภาพด้วยเทคโนโลยีดิจิตัล และนำไปขับเคลื่อนสุขภาพวัยทำงานได้อย่างเหมาะสม เนื่องจากผู้สมัครส่วนใหญ่เป็นวัยทำงาน ร้อยละ 92 จากข้อมูลพบว่ากลุ่มวัยทำงานที่มีทั้งหมด 38 ล้านคน มีเพียงร้อยละ 10 ที่เข้าร่วมกิจกรรมก้าวท้าใจ ซึ่งยังสามารถขับเคลื่อนกิจกรรมก้าวท้าใจให้ขยายได้อีกจำนวนมากต่อไป” รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวในที่สุด