โควิด 19 ลงปอด อาการเป็นอย่างไร? กรมการแพทย์ แนะผู้ป่วยโควิด-19 สังเกตอาการตนเอง หากรู้สึกแน่นหน้าอก หอบเหนื่อย หายใจไม่อิ่ม อ่อนเพลียระดับออกซิเจนในเลือดลดน้อยลงกว่าระดับปกติ อาจสงสัยเชื้อโควิด-19 ลงปอด
นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ในปัจจุบันผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ละคนจะมีอาการมากน้อยแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น ภูมิคุ้มกัน และโรคประจำตัวของผู้ป่วย การแพร่กระจายเชื้อไวรัสโควิด-19 นั้นสามารถแพร่ได้ผ่านการสูดดมเข้าทางโพรงจมูกเข้าไปสู่ปอด จากการไอ จาม เสมหะ หรือการสัมผัสสารคัดหลั่งของผู้ที่มีเชื้อไวรัสโควิด-19 หลังจากติดเชื้อผู้ป่วยอาจไม่มีอาการหรือมีอาการทั่วไป เช่น มีไข้ ไอ เจ็บคอ จมูกไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่รับรส ผู้ที่มีความเสี่ยงที่จะส่งผลให้เกิดความรุนแรงของโรคและเชื้ออาจลงสู่ปอดได้ คือ ผู้สูงอายุ และกลุ่มที่มีโรคร่วม ได้แก่ โรคอ้วน โรคเบาหวาน โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคไตวายเรื้อรัง โรคหลอดเลือดสมอง โรคมะเร็งทุกชนิด และผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ กลุ่มเสี่ยงเหล่านี้จึงควรระมัดระวังตนเองมากเป็นพิเศษกว่าคนปกติทั่วไป เพราะหากเชื้อลงสู่ปอดแล้ว อาจส่งผลต่อระบบภายในอื่นๆ ของร่างกายได้
นายแพทย์เอนก กนกศิลป์ ผู้อำนวยการสถาบันโรคทรวงอก กรมการแพทย์ กล่าวเพิ่มเติม ปอดในร่างกายมีหน้าที่สำคัญในการแลกเปลี่ยนของออกซิเจนในเลือด ถ้าผู้ป่วยโควิด-19 พบว่าเชื้อลงสู่ปอด จะส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการหอบเหนื่อย หายใจไม่อิ่ม เจ็บแน่นหน้าอก และระดับออกซิเจนในเลือดลดลง หากระดับออกซิเจนในเลือดลดลงมากเกินไป เช่น ออกซิเจนที่ไปเลี้ยงในส่วนของสมองน้อยลง จะทำให้เกิดภาวะซึม รู้สึกอ่อนเพลีย โดยในเกณฑ์ปกติระดับออกซิเจนในเลือดของร่างกายจะอยู่ที่ระดับ 97-100% (เครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้ว) หรือหากต้องการเช็คอาการว่าโควิด-19 ลงปอดหรือยัง ลองให้ผู้ป่วย ออกกำลังกายเบาๆ เช่น การเดินไวในระยะเวลา 6 นาที เพราะการเดินไว 6 นาที พอเพียงที่จะแสดงความผิดปกติ ของการแลกเปลี่ยนออกซิเจน ซึ่งเมื่อเกิดความผิดปกติในถุงลมในปอด(Alveoli) จะทำให้มีการแลกเปลี่ยนของออกซิเจนลดลง ดังนั้นหากมีโรคเกี่ยวกับปอดหรือเชื้อลงปอด จะทำให้ระดับออกซิเจนในเลือดลดน้อยลงกว่าระดับปกติ
สำหรับแนวทางการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 แพทย์จะดำเนินการรักษาตามอาการ และในผู้ที่มีอาการรุนแรงเชื้อลงปอด ผู้ป่วยจะได้รับยาต้านไวรัส ซึ่งยาต้านไวรัสจะเข้าไปฆ่าเชื้อไวรัส หยุดยั้งไม่ให้เชื้อไวรัสแบ่งตัวเพิ่มเติมและทำลายเซลล์อื่นๆ นอกจากนี้แพทย์จะจ่ายยาต้านการอักเสบเพื่อลดกระบวนการอักเสบ ในร่างกายร่วมกับการให้ยารักษาตามอาการควบคู่กันไป ในกรณีผู้ป่วยโควิด-19 มีอาการรุนแรง มีปอดอักเสบ ร่วมด้วยและปอดอักเสบมีปัญหาทั้ง 2 ข้าง แพทย์จะให้ผู้ป่วยนอนคว่ำ เพราะการนอนคว่ำจะสามารถช่วยให้ปอดขยายได้ดีขึ้น การนอนคว่ำจะมีผลทำให้ปอดไม่มีตัวเบียดดัน ปริมาณเนื้อปอดจะมีโอกาสแลกเปลี่ยนออกซิเจนได้ดีขึ้น เมื่อผู้ป่วยโควิด-19 รักษาตัวจนหายดีแล้วปอดจะกลับมาเป็นเหมือนคนปกติ นอกจากนี้การฉีดวัคซีนป้องกัน โควิด-19 เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่สามารถช่วยให้ร่างกายมีภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัสโควิด-19 ลดความรุนแรงของโรค ช่วยให้อาการป่วยเบาลง สามารถหายป่วยและกลับมาใช้ชีวิตปกติได้เร็วขึ้นมากกว่าผู้ที่ไม่เคยได้รับวัคซีน
สิ่งสำคัญที่สุดในการดูแลตนเองในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 คือ เราทุกคนต้องหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดการติดเชื้อ ด้วยการใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา แม้กระทั้งอยู่บ้านร่วมกับ คนในครอบครัว หมั่นล้างมือด้วยสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์อย่างสม่ำเสมอ เว้นระยะห่าง หลีกเลี่ยงการเดินทางไปในพื้นที่แออัด เลี่ยงการสัมผัสหรือใกล้ชิดผู้ที่มีความเสี่ยงสูง และทำให้ร่างกายตนเองแข็งแรง มีภูมิคุ้มกันที่ดี ด้วยการออกกำลังกายเป็นประจำ รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ และเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 เพราะถ้าทุกคนได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 จะเกิดการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ ลดอัตราการติดเชื้อ ลดความรุนแรงของโรคโควิด-19 ได้อีกด้วย
************************************************************************
ที่มา : กรมการแพทย์