เชียงใหม่สถานการณ์ผู้ป่วยติดเชื้อโควิดยังรุนแรง ผู้ว่าฯ ประเมินสถานการณ์ ชูแนวทาง CI แยกกักผู้ป่วยโควิดรองรับทุกชุมชน ลดความแออัดของโรงพยาบาลสนาม

854

เชียงใหม่สถานการณ์ผู้ป่วยติดเชื้อโควิดยังรุนแรง ผู้ว่าฯ ประเมินสถานการณ์ ชูแนวทาง CI แยกกักผู้ป่วยโควิดรองรับทุกชุมชน ลดความแออัดของโรงพยาบาลสนาม พร้อมขอความร่วมมือ ปชช. ในการรองรับผู้ป่วยขออย่ารังเกียจผู้ติดเชื้อ และให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่

วันที่ 25 ต.ค.64 รายงานข่าวแจ้งว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่เกิดขึ้นในจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งยังคงมีปริมาณผู้ป่วยติดเชื้อเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก ติดต่อกันมาหลายสัปดาห์แล้ว ส่งผลทำให้ปริมาณการรองรับผู้ป่วยติดเชื้อตามโรงพยาบาลสนาม และสถานที่หลายแห่ง ไม่เพียงพอต่อการรองรับผู้ป่วย จากการที่ในขณะนี้จำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้นในจังหวัดเชียงใหม่นั้น ตรวจพบผู้ติดเชื้อวันละไม่ต่ำกว่า 300 ราย ทำให้ที่โรงพยาบาลสนามจังหวัดเชียงใหม่ ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ 7 รอบพระชนมพรรษา ซึ่งแต่เดิมเป็นจุดรองรับผู้ป่วยสีเขียว ต้องปรับสภาพโรงพยาบาลให้เป็นสถานที่สำหรับดูแลผู้ป่วยกลุ่มสีเหลือง หรือกลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการปานกลาง ซึ่งเป็นผลมาจากจำนวนเตียงที่ดูแลผู้ป่วยลักษณะดังกล่าว ตามโรงพยาบาลต่างๆ เริ่มไม่เพียงพอต่อการรองรับผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้นมาจำนวนมากอย่างต่อเนื่องในแต่ละวัน

ขณะที่ทางด้าน นายประจญ ปรัชญ์สกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ได้ประเมินสถานการณ์ที่เกิดขึ้น พร้อมทั้งได้มีการหารือกับทางเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้อง ในการขอให้ทางชุมชน และอำเภอทุกอำเภอในจังหวัดเชียงใหม่ ดำเนินการจัดตั้งสถานที่ในการรองรับผู้ป่วยในชุมชนโดยการทำ CI หรือ Community Isolation ซึ่งเป็นการแยกกักผู้ป่วย โควิด-19 ในชุมชน เพื่อเฝ้าดูอาการของผู้ป่วยติดเชื้อที่อยู่ในระดับสีเขียว หรือผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรงมาก เพื่อเป็นแนวทางในการลดปริมาณความแออัดของผู้ป่วยติดเชื้อในโรงพยาบาลสนาม และตามโรงพยาบาลต่างๆ อีกทางหนึ่งด้วย

โดยทางด้าน นายประจญ ปรัชญ์สกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยว่า การดำเนินการในเรื่องของ CI หรือ Community Isolation ซึ่งเป็นอีกแนวทางในการแยกกักผู้ป่วย โควิด-19 ในชุมชน โดยในส่วนของการกักตัวที่ว่าคือ การพักคอยดูว่าผู้ที่ได้รับเชื้อนั้นจะต้องอยู่ในพื้นที่ควบคุม 14 วัน และหลังจาก 14 วัน หากไม่มีอาการก็แสดงว่าร่างกายมีการต่อสู้กับเชื้อโรค และมีภูมิต้านทางในร่างกาย หรือมีการสร้างภูมิคุ้มกันที่แข็งแรง ซึ่งการดำเนินการ CI หรือ Community Isolation นั้นเป็นจุดที่ผู้ป่วยทุกคนจะต้องไปพักคอยไว้ เพื่อลดการแออัด เพราะหากมีผู้ที่ได้รับเชื้อแต่ไม่มีการทำจุดพักคอยแล้วผู้ป่วยติดเชื้อยังอาศัยอยู่ที่บ้าน ก็เป็นอีกปัจจัยเสี่ยงที่นำไปสู่การแพร่ระบาดภายในครอบครัว และในละแวกโดยรอบ แต่หากมีการตรวจพบเจอผู้ติดเชื้อแล้วมีการแยกผู้ติดเชื้อไปอยู่ยังจุดพักคอยเพื่อเฝ้าดูอาการ หากมีความผิดปรกติหรือร่างกายไม่ไหวก็จะต้องมีการนำตัวส่งรักษาต่อไป

ขณะเดียวกัน ในส่วนของการดำเนินการ CI หรือ Community Isolation นั้นก็ขอให้ประชาชนหรือผู้ที่อยู่ในชุมชนเข้าใจด้วยว่าการติดเชื้อนั้นไม่ได้เป็นสิ่งที่น่ารังเกียจ และอยากให้มีความเอื้ออาทรต่อกัน ซึ่งในขณะนี้ในทุกอำเภอก็จะมีการดำเนินการตั้ง CI หรือ Community Isolation ทุกแห่ง เพื่อเป็นการรองรับผู้ป่วยที่อาจจะเป็นลูกหลาน หรือตัวท่านเอง แม้ว่าทุกคนจะมีการระวังป้องกันตัวที่ดีอยู่แล้ว แต่อาจจะพลาดติดเชื้อขึ้นมาได้ ซึ่งสุดท้ายแล้วก็ต้องทำให้ถูกส่งไปยังที่กักตัว ซึ่งอยากขอให้ผู้ที่อยู่ใกล้เคียงอย่าไปรังเกียจผู้ติดเชื้อ เพราะโรคนี้ไม่ได้แพร่กระจายในอากาศ รวมไปถึงการอยู่ใน CI หรือ Community Isolation ก็เป็นการอยู่ในกระบวนการควบคุมของทางแพทย์ และทางด้านการสาธารณสุข ที่มีทีมแพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายคอยดูแล รวมไปถึงผู้ที่เข้าไปรับการ CI หรือ Community Isolation ก็ไม่ได้ออกไปไหน 14 วัน เพื่อให้เกิดความปลอดภัย

ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า อย่างไรก็ตามในขณะนี้ทาง ศปก.เทศบาลนครฯ , ศปก.เทศบาลเมือง รวมทั้ง ศปก.ของทุกอำเภอ ที่ดำเนินการก็เอาคนของหมู่บ้าน หรือชุมชนของตัวเองที่ติดเชื้อมากักไว้ ดังนั้นก็จึงไม่ควรไปรังเกียจผู้ติดเชื้อ แต่เพียงแค่ต้องป้องกันตัว เพราะส่วนใหญ่หลายเคสเมื่อพบว่ามีการติดเชื้อก็จะกลัวไม่อยากให้ผู้ติดเชื้อเข้าใกล้ ซึ่งตนไม่อยากให้คิดเช่นนั้น เพราะสักวันหนึ่งการติดเชื้อก็อาจเกิดขึ้นกับตัวเองได้ และก็อาจจะเป็นตัวท่านเองที่ต้องเข้าสู่กระบวนการกักตัว ดังนั้นในส่วนของสถานที่ CI หรือ Community Isolation จัดตั้งขึ้นนั้นจึงเป็นสถานที่ที่ใช้ในการกักตัวคนในชุมชน ไม่ใช่คนนอกพื้นที่แต่อย่างใด เพื่อลดปัญหาความแออัด เมื่อกักตัวมีอาการดีขึ้นหรือรักษาหายก็สามารถเดินทางกลับบ้านใช้ชีวิตได้ตามปกติต่อไป