“หมอหม่อง” ติงผู้ว่าฯเชียงใหม่ สถานการณ์โควิดมาถึงจุดที่เลวร้ายมาก สภาพใกล้เหมือนตอน กทม. แตกเต็มทีแล้ว แต่ถูกขอไม่ให้พูดออกไปว่า “เตียงเต็ม เตียงไม่พอ” ชี้เร่งแก้ไขวิกฤติ
วันที่ 28 ตุลาคม 2564 นพ.รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์ หรือ หมอหม่อง อาจารย์แพทย์โรคหัวใจ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก เกี่ยวกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในจังหวัดเชียงใหม่ ระบุว่า
ความ…ของ ผู้ว่าฯ เชียงใหม่ (เติมคำในช่องว่างเองละกันนะครับ)
สถานการณ์โควิดของเชียงใหม่มาถึงจุดที่เลวร้ายมาก มีจำนวนผู้ป่วยใหม่เพิ่มขึ้น 300 ถึง 500 คนต่อวัน ปริมาณผู้ป่วยล้น รพ. ผู้ป่วยหนัก ล้น ICU ต้องเปิด home isolation community isolation temple isolation กันยกใหญ่ สภาพใกล้ตอน กทม แตกเต็มทีแล้ว แต่ทางการจังหวัดขอไม่ให้พูดออกไปว่า “เตียงเต็ม เตียงไม่พอ” ทั้งๆที่ความจริงมัน เกินศักยภาพที่ระบบสาธารณสุขของจังหวัดจะรองรับได้ไปแล้ว หมอ พยาบาล บุคลากรที่เกี่ยวข้อง เหน็ดเหนื่อยอ่อนล้ากันจนแทบไม่ไหว
ตั้งแต่ผู้ว่าฯ คนนี้ เข้ามา จำนวน case ก็พุ่งขึ้นสูง แซงนำทุกจังหวัดในภาคเหนือ โดยที่ไม่มีมาตราการในการควบคุมโรคเพิ่มเติมแต่อย่างใด มุ่งหน้าจะเปิดเมืองอย่างเดียว
จริงอยู่ว่า การลากยาวของสถานการณ์โควิด ทำให้เราต้องปรับกลยุทธ์ในการควบคุมโรค ต้องเรียนรู้ที่จะอยู่กับโรคได้แบบสมดุลมากขึ้น เพราะปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาการทำมาหากินของผู้คน ก็แสนสาหัสเหลือเกิน แต่การเปิดเมืองน่าจะต้องดำเนินควบคู่ไปกับมาตรการในการระมัดระวังการแพร่ระบาดที่มีประสิทธิภาพ ด้วยความไม่ประมาทและการเร่งฉีดวัคซีนให้ประชาชนให้มากที่สุด
ซึ่งปัจจุบันยังได้เพียงราวครึ่งหนึ่งของประชากรเป้าหมาย หากเทียบกับการระบาด wave ก่อนหน้านี้ รอบนี้ หนักกว่าทุกครั้งมาก แต่ดูเหมือนผู้คนจำนวนไม่น้อย เริ่มชินชา ปล่อยวาง หละหลวม
ที่ผ่านมา ตัวแทนฝ่ายการแพทย์ สาธารณสุข ได้พยายามปรึกษาหารือ ผู้ว่าฯ เพื่อเร่งหามาตรการในการรับมือและควบคุมโรค แต่ดูเหมือนกลับไม่ได้รับการตอบรับที่เป็นรูปธรรมจากฝ่ายมหาดไทย ไม่มีการเพิ่มมาตราการควบคุมโรค ไม่เห็นความพยายามของจังหวัด ในการช่วยต่อรองกับส่วนกลางขอวัคซีนมาเพิ่มเร่งด่วน
ผมไม่รู้จักผู้ว่าฯ และวิจารณ์ด้วยมุมมองของประชาชนคนหนึ่ง ซึ่งอาจไม่รู้รายละเอียดมากนักว่า วันๆ ผู้ว่า ทำอะไรบ้าง นอกจากเซ็นหนังสือ ท่านเหนื่อยแค่ไหน หลับดีหรือเปล่า ได้นอนวันละกี่ ชม กินข้าวยังอร่อยไหม แต่นี่คือภาพของการทำงานของจังหวัดที่ประชาชนรับรู้
ดูเหมือนว่า ตำแหน่งผู้ว่า นี้ ไม่ต้องมี accountability ต่อสังคมมากมายนัก เมื่อไหร่ เราจะได้เลือกตั้งผู้ว่าเอง เมื่อใดเราจะได้คนที่ความสามารถ มีใจ มุ่งมั่นทำงานแก้ปัญหา ไม่ใช่เพียงย้ายมารอวันเกษียณอย่างที่ผ่านมา
แต่ก็ยังไม่สายเกินไปนะครับ ในเวลาที่เหลืออายุราชการ หากท่านเปลี่ยนแปลงท่าที แสดงบทบาทผู้นำในแก้ไขวิกฤต ใส่ใจลงไป ในแก้ปัญหาอย่างจริงจัง รับฟัง ตอบสนองข้อเสนอแนะ สนับสนุนทีมสาธารณสุข สร้างบรรยากาศของความร่วมมือของประชาชน และทุกภาคส่วน อาจทำให้ผู้คนเปลี่ยนใจ จดจำท่านในแง่ดีตลอดไป
ท่านเป็นบุคคลสาธารณะ เป็นลูกจ้างของประชาชน (ไม่ใช่นายของเรา) คงต้องทนรับฟัง คำวิจารณ์ จากประชาชนหน่อยนะครับ