ศบค. เห็นชอบปรับลดพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดเหลือ 7 จังหวัด “นายกฯ” ย้ำจำเป็นต้องเปิดประเทศเพื่อฟื้นฟูสภาพเศรษฐกิจโดยรวม

261

ศบค. เห็นชอบปรับลดพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดเหลือ 7 จังหวัด “นายกฯ” ย้ำจำเป็นต้องเปิดประเทศเพื่อฟื้นฟูสภาพเศรษฐกิจโดยรวม 

วันที่ 29 ตุลาคม 2564 เวลา 09.30 น. ณ  ตึกสันติไมตรี (หลังนอก) ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ครั้งที่ 17/2564 เห็นชอบปรับลดพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดเหลือ 7 จังหวัด โดยจังหวัดพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ยังคงมาตรการเดิมและคงการห้ามออกนอกเคหสถานเวลา 23.00 – 03.00 น.

นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงการตัดสินใจเรื่องการเปิดประเทศโดยการเปิดรับนักท่องเที่ยวจาก 45 ประเทศ และ 1 เขตปกครองพิเศษ ให้เดินทางเข้ามาประเทศได้โดยไม่ต้องกักตัว โดยผู้ที่จะเดินทางเข้ามาต้องได้รับการฉีดวัคซีนครบโดสแล้ว เฉพาะผู้ที่เดินทางเข้ามาทางอากาศ มีผลตรวจปลอดโควิดก่อนเดินทางเข้ามา และตรวจอีกครั้งในประเทศไทย ถือได้ว่าเป็นการตัดสินใจบนความเสี่ยงต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 แต่จำเป็นเพื่อฟื้นฟูสภาพเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ ดึงดูดนักท่องเที่ยว กระตุ้นภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้อง เพราะการท่องเที่ยวเป็นรายได้สำคัญในการขับเคลื่อนภาคเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลปีใหม่ที่จะมาถึงนี้

นายกรัฐมนตรีกล่าวขอบคุณทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ที่ทำให้การฉีดวัคซีนมีความก้าวหน้าในหลายจังหวัดและพื้นที่ โดยขอให้เร่งระดมฉีดวัคซีนในจังหวัดเป้าหมายให้ได้ตามที่กำหนดไว้ หากจำเป็นต้องขยายเวลาการให้บริการวัคซีนหรือเพิ่มบุคลากรก็ควรต้องทำบนพื้นฐานและหลักการเป้าหมายของการเปิดประเทศ รวมถึงการเตรียมความพร้อมในด้านการรักษาพยาบาล ยา เวชภัณฑ์ จำนวนเตียง อุปกรณ์ทางการแพทย์ ให้เพียงพอ เพื่อรองรับสถานการณ์ต่าง ๆ ได้ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน สังคม รวมทั้งต้องชี้แจงขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งประชาชน เจ้าหน้าที่รัฐ นายกสมาคมฯ สถานประกอบการต่าง ๆ ที่ต้องมีมาตรการเข้มงวด เพื่อไม่ให้แผนการเปิดประเทศมีปัญหา

นายกรัฐมนตรีกล่าวภาคภูมิใจที่ประเทศไทยมาถึงวันนี้ได้เพราะทุกภาคส่วนได้ร่วมมือร่วมใจกัน โดยไม่มีความขัดแย้งซึ่งกันและกัน ขับเคลื่อนมาตรการควบคุมป้องกันการแพร่ระบาด วางแผนผ่อนคลายกิจการ/กิจกรรมอย่างเป็นระบบ ค่อยเป็นค่อยไปอย่างมีหลักการในการสร้างสมดุลระหว่างการควบคุมป้องกัน การรักษาสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ และการช่วยเหลือเยียวยาประชาชน โดยยังคงเน้นให้ผู้ประกอบการปฏิบัติตามมาตรการ COVID-Free Setting และให้ประชาชนยังคงต้องปฏิบัติตามมาตรการ Universal Prevention ขอให้ทุกฝ่ายทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ภาคประชาชน ช่วยกันทำหน้าที่อย่างเข้มแข็ง มั่นคง และเร่งแก้ไขปัญหาที่เป็นผลกระทบมาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เช่น ปัญหาหนี้ครัวเรือน ปัญหาด้านการศึกษา ปัญหาความขัดแย้ง และปัญหาสังคมต่าง ๆ โดยสร้างการมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนและฟื้นฟูความเชื่อมั่นกับต่างประเทศด้วย

ที่ประชุม ศบค. มีมติสำคัญ ดังนี้

เห็นชอบในหลักการการปรับระดับของพื้นที่สถานการณ์ย่อยในพื้นที่ทั่วราชอาณาจักร ดังนี้

พื้นที่ควบคุมสูงสุด และเข้มงวด  7 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดจันทบุรี จังหวัดตาก จังหวัดนครศรีธรรมราช จังหวัดนราธิวาส จังหวัดปัตตานี จังหวัดยะลา จังหวัดสงขลา โดยมีพื้นที่ควบคุมสูงสุด 38 จังหวัด พื้นที่ควบคุม 23 จังหวัด พื้นที่เฝ้าระวังสูง 5 จังหวัด และพื้นที่นำร่องท่องเที่ยว 4 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร จังหวัดกระบี่ พังงา ภูเก็ต

การปรับมาตรการป้องกันควบคุมโรคโควิด-19 แบบบูรณาการ ตามระดับพื้นที่ของสถานการณ์ย่อยในพื้นที่ทั่วราชอาณาจักร 1 พฤศจิกายน 2564 ในส่วนของพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ได้แก่ ขอความร่วมมือหลีกเลี่ยงการเดินทางที่ไม่จำเป็น ห้ามออกนอกเคหสถาน 23.00–03.00 น. Work From Home อย่างน้อย 70% หน่วยงานของรัฐ ผู้ประกอบการภาคเอกชน ปรับเพิ่มได้ตามความเหมาะสม ร้านอาหาร ทั้งใน และนอกศูนย์การค้า ห้างสรรพสินค้า หรือ สถานที่อื่นใดที่มีร้านอาหาร บริโภคในร้านได้ จำกัดลูกค้า – ร้านไม่มีเครื่องปรับอากาศ 75 % – ร้านมีเครื่องปรับอากาศ 50% กำหนดเกณฑ์ผู้รับบริการ ผู้ให้บริการ เปิดตามเวลาปกติแต่ไม่ เกิน 22.00 น. และยังให้งดการจำหน่าย และงดดื่มสุราในร้าน เป็นต้น

ทั้งนี้ ทุกกิจกรรม/กิจการต้องเน้นย้ำมาตรการ Universal Prevention, COVID Free Setting และมาตรการป้องกันควบคุมโรคตามราชการกำหนดอย่างเคร่งครัด สำหรับมาตรการ Work From Home ในพื้นที่ควบคุมสูงสุด พื้นที่ควบคุม พื้นที่เฝ้าระวังสูง พื้นที่เฝ้าระวัง และพื้นที่นำร่องการท่องเที่ยว ให้หน่วยงานของรัฐ ผู้ประกอบการภาคเอกชนดำเนินการได้ตามความเหมาะสม ยกเว้น กรุงเทพมหานครและปริมณฑล อย่างน้อย 70%