รัฐบาลชี้สถิติไทยว่างงาน ต่ำกว่าหลายประเทศในอาเซียน เผยตัวเลขจ้างงานระยะยาวดีแน่

177

รัฐบาลชี้สถิติไทยว่างงาน ต่ำกว่าหลายประเทศในอาเซียน เผยตัวเลขจ้างงานระยะยาวดีแน่

วันที่ 29 พฤศจิกายน 2564 นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงผลสำรวจล่าสุดจากสำนักวิจัยซุปเปอร์โพล ที่เปรียบเทียบอัตราการว่างงานในประเทศไทยกับอีกหลายประเทศ โดยเป็นการอ้างอิงจากแหล่งข้อมูลเช่น ธนาคารโลก เว็บไซต์เทรดดิ้งอิโคโนมิคส์ และสถิติต่าง ๆ ซึ่งพบว่า อัตราการว่างงานของประเทศไทยอยู่ที่ร้อยละ 2.25 ต่ำกว่าหลายประเทศในอาเซียน เช่น มาเลเซีย ร้อยละ 4.5 อินโดนีเซีย ร้อยละ 6.49 ฟิลิปปินส์ ร้อยละ 6.9 ขณะที่ประเทศนอกภูมิภาค อาทิ เยอรมันนี ร้อยละ 3.4 สหรัฐอเมริกา ร้อยละ 4.6 และจีนร้อยละ 4.9 จึงเป็นการสะท้อนให้เห็นว่า นโยบายมาตรการ และโครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ในช่วงเกือบสองปีที่ผ่านมามีผลเป็นที่น่าพอใจ ณ ระดับหนึ่ง และรัฐบาลจะยังคงเดินหน้าการข้บเคลื่อนเศรษฐกิจผ่านมาตรการต่างๆ การส่งเสริมการลงทุน ควบคู่ไปกับการเปิดประเทศ จะทำให้เกิดการจ้างงานเพิ่มขึ้นอย่างมากในระยะต่อไปแน่นอน

ในส่วนของผลการสำรวจ ที่ระบุว่าร้อยละ 80.8 ของประชาชน ต้องการให้รัฐช่วยเหลือเยียวยา มุ่งให้เกิดการจ้างงานเพิ่มขึ้น นางสาวรัชดา ชี้แจงว่า เรื่องนี้เป็นเป้าหมายทางเศรษฐกิจของรัฐบาลอยู่แล้ว ดังเห็นได้จาก ล่าสุดโครงการส่งเสริมและรักษาระดับการจ้างงานในธุรกิจ SMEs ใช้งบประมาณกว่า 2.7 หมื่นล้านบาท เพื่อจ่ายเป็นเงินอุดหนุนลูกจ้างรายละสามพันบาท สามเดือน มีสถานประกอบการลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการ ณ วันที่ 20 พ.ย. จำนวน 2.23 แสนแห่ง หรือร้อยละ 56.71 ช่วยรักษาระดับการจ้างงานลูกจ้างสัญชาติไทย 3 ล้านกว่าคน หรือร้อยละ 76.08  ซึ่งรัฐบาลได้ขยายการลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการ ไปจนถึง 20 ธ.ค.นี้ เพื่อจะได้ดูแลลูกจ้างให้มากขึ้น

มากไปกว่านั้น ในเขตพื้นที่เศรษฐกิจพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC) ครอบคลุมจังหวัดระยอง ชลบุรี ฉะเชิงเทรา ถือเป็นแหล่งโอกาสการจ้างงานที่สำคัญมาก คาดการณ์ว่าจะมีความต้องการแรงงานใน 5 ปีข้างหน้าของ EEC มากกว่า 4.7 แสนตำแหน่ง ประเภทความต้องการ 3 อันดับแรก คือ อุตสาหกรรมดิจิทัล  อุตสาหกรรมโลจิสติกส์ และอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ ขณะเดียวกัน การเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ เชื่อมั่นว่าจะนำไปสู่การจ้างงานในภาคบริการและการท่องเที่ยวที่มากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ สำหรับประชาชนที่ต้องการสมัครงานและนายจ้างที่ต้องการประกาศรับสมัครงานสามารถใช้บริการจัดหางานออนไลน์กับกระทรวงแรงงานได้ที่เว็บไซต์ “ไทยมีงานทำ” หรือแอพพลิเคชั่น “ไทยมีงานทำ” ทั้งนี้ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2563 มีผู้มาสมัครงานผ่านช่องทางดังกล่าวและได้รับบรรจุงานแล้วกว่า 3 แสนคน และยังมีตำแหน่งว่างงานรอีกประมาณ 2 แสนอัตรา ส่วนใหญ่อยู่ในอุตสาหกรรมการผลิต ก่อสร้าง และอุปกรณ์การแพทย์

“จากนี้ไป เราจะเห็นอัตราการจ้างงานที่ขยับเพิ่มสูงขึ้น ทั้งในภาคบริการและภาคการผลิตโดยเฉพาะในพื้นที่ EEC อย่างไรก็ตาม สิ่งที่รัฐบาลจะขับเคลื่อนเพียงลำพังไม่ได้ คือ การปรับวิธีคิดของแรงงาน ให้ตื่นตัวกับการเรียนรู้ตลอดชีวิต ปรับตัวให้เข้ากับโลกเทคโนโลยีในอนาคต ในส่วนของภาครัฐ จะทำงานร่วมกับสถาบันการศึกษา ภาคเอกชน เพื่อส่งเสริมแรงงานไทยให้มีทักษะด้านต่างๆ สอดคล้องกับความต้องการแรงงานในภาคอุตสาหกรรม” นางสาวรัชดา กล่าว