เดี๋ยวดี เดี๋ยวร้าย หรือเป็นโรคไบโพลาร์? มารู้จักโรคนี้กันให้มากขึ้น

1165

เดี๋ยวดี เดี๋ยวร้าย หรือเป็นโรคไบโพลาร์? มารู้จักโรคนี้กันให้มากขึ้น

จากสถิติพบว่า ทั่วโลกมีผู้ป่วยไบโพลาร์จำนวน 60 ล้านคน ในส่วนของคนไทยมีผู้ป่วยจำนวนประมาณ 5 แสนราย และเข้ารับการรักษา 1-2 หมื่นราย (ข้อมูล:กรมสุขภาพจิต) ความเข้าใจของโรคไบโพลาร์อาจมีความคลาดเคลื่อนไปบ้าง ในสื่อและความเข้าใจในสังคม อาทิ เดี๋ยวดีเดี๋ยวร้าย ,มีสองบุคลิก ,อยู่กับสังคมเป็นแบบหนึ่ง อยู่คนเดียวเป็นอีกแบบหนึ่ง ,ไม่คุมอารมณ์ ,ชอบใช้ความรุนแรง ,เปลี่ยนตามสถานการณ์

ความเข้าใจทั้งหมดนี้อาจเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนไปสักหน่อย แต่อาจจะมีบางส่วนที่คล้ายได้ โรคไบโพลาร์แท้จริงแล้ว ไม่ได้ถูกจำกัด ด้วยคำนิยามเหล่านี้ ตามที่โซเชียลมีเดีย ในข่าว หรือละครที่สื่อออกมา จึงทำให้เกิดความเข้าใจที่ไม่ตรงกับผู้ป่วยที่เป็นไบโพลาร์ที่ทางแพทย์ได้รับการรักษาอยู่ หรือว่าบุคคลที่อยู่รอบข้าง ซึ่งนำไปสู่การตีตราให้กับบุคคลนั้นๆ และเกิดภาพจำที่ไม่ถูกต้องเกี่ยวกับโรคไบโพลาร์และโรคทางจิตเวชอื่นได้

ไบโพลาร์คืออะไร?…

การที่จะบ่งบอกว่าอาการนั้นเป็นโรคไบโพลาร์หรือยังต้องดูคำจำกัดความในทางการแพทย์ ซึ่งโรคทางจิตเวชเกือบทุกโรคมีคำนิยามที่บอกว่าเป็นโรคแล้วควรต้องได้รับการรักษา โดยรวมคือมีปัญหากับตัวเองหรือผู้อื่น เช่นผู้ที่เผชิญสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ โดยทั่วไป โรคซึมเศร้า โรคติดสุรา โรคไบโพลาร์ หรืออารมณ์สองขั้วจะมีส่วนที่เป็นร่วมกันอยู่คือ มีปัญหากับตัวเอง และมีปัญหากับผู้อื่นรอบข้าง เมื่อเผชิญกับปัญหาจะรู้สึกจัดการตัวเองไม่ได้

โรคไบโพลาร์จะมีอาการหลัก 2 อาการ คือ

1. ช่วงซึมเศร้า (DEPRESSIVE EPISODE)

มีอาการเหมือนกับโรคซึมเศร้า โดยมีอาการสำคัญคือมีอารมณ์ซึมเศร้า เบื่อหน่าย หรือไม่มีความสุขกับสิ่งที่เคยทำแล้วสบายใจ ร่วมกับมีอาการประกอบอื่นๆ ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงของการทานอาหาร การนอนหลับ ความคิดสมาธิในการทำงานลดน้อยลง , รู้สึกไร้ค่า รู้สึกผิด และบางรายอาจคิดทำร้ายตัวเอง โดยช่วงซึมเศร้านี้จะทำให้เกิดปัญหากับการทำงาน หรือความสัมพันธ์กับผู้อื่น โดยไม่จำเป็นต้องมีอาการครบทั้งหมด และหากต่อเนื่องเป็นเวลา 2 สัปดาห์ แนะนำให้ปรึกษากับผู้เชี่ยวชาญเพื่อการวินิจฉัยต่อไป ส่วนอาการอีกด้านหนึ่ง เรียกว่าช่วงครึกครื้น หรือ ช่วงแมนิก ช่วงเวลานี้มักจะเกิดขึ้นไม่พร้อมกับช่วงซึมเศร้า

2. ช่วงครึกครื้น (MANIA EPISODE)

อารมณ์หลักจะเกิดขึ้นในช่วงที่มีอาการอารมณ์ดี ซึ่งดีเกินกว่าปกติของคนๆ นั้นที่เคยเป็น รู้สึกดีกับทุกอย่าง หรืออาจมีอารมณ์หงุดหงิดเกือบตลอดเวลาต่ออย่างต่อเนื่อง ร่วมกับมีอาการประกอบอย่างน้อย 3 อาการ เช่น มีความคิดแล่นเร็ว คิดหลายอย่างพร้อมกัน ซึ่งไม่สามารถพูดออกมาได้ทัน, วอกแวกได้ง่าย สมาธิลดลง, ความต้องการการนอน 1-2 ชั่วโมงต่อวันก็สามารถที่จะอยู่ได้ตลอดทั้งวัน 24 ชั่วโมง ไม่นอนติดต่อกัน 2-3 วันก็สามารถอยู่ได้ ในขณะนั้นมีกิจกรรมที่สามารถอยู่ได้เรื่อยๆ, ยับยั้งชั่งใจไม่ได้ และ ทำกิจกรรมที่มีความเสี่ยงอันตรายมากขึ้น เช่น ใช้เงินมากขึ้นอย่างชัดเจน โดยไม่มีการพิจารณา, ขับรถเร็วขึ้น มีความต้องการทางเพศมากขึ้น และ ใช้สารเสพติดมากขึ้น เป็นต้น

หากอาการเหล่านี้เกิดขึ้นแล้วไม่ได้รับการรักษาจากแพทย์ จะมีความเสี่ยงด้านความคิดและความจำที่ถดถอยมากกว่าผู้ป่วยรายอื่นที่มารักษา ช่วงที่ซึมเศร้าและครึกครื้นมีโอกาสและความเสี่ยงที่จะใช้สารเสพติดได้มากกว่าปกติ เช่น ดื่มแอลกอฮอล์มากขึ้น ถี่ขึ้น หรือลองสารเสพติดใหม่ๆ ทั้งที่ไม่เคยและเคยลองมาก่อน อาจจะทำให้มีผลข้างเคียงเกิดขึ้นมากได้ รวมถึงความสัมพันธ์ต่อผู้คนรอบข้างแย่ลงได้ในช่วงของอารมณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป

ใครมีความเสี่ยงเป็นโรคไบโพลาร์?

– เกิดขึ้นได้ทุกเพศทุกวัย ไม่มีข้อยกเว้น แต่จะเจอในวัยรุ่นค่อนข้างมากกว่า หมายถึงช่วงเริ่มต้นที่มีอาการครั้งแรก พบว่าช่วงอายุระหว่าง 15-20 ปี

– ผู้ที่มีประวัติการใช้สารเสพติดมาก่อน แม้ว่าก่อนหน้านี้ไม่มีความเจ็บป่วยด้านอารมณ์

– ปัจจัยด้านพันธุกรรม พบว่าเสี่ยงมากขึ้นหากมีประวัติโรคทางอารมณ์ในญาติสายตรง ได้แก่ พ่อแม่ พี่น้อง

โรคหรือภาวะอื่นที่คล้ายไบโพลาร์ ซึ่งเป็นหน้าที่ของแพทย์ที่จะต้องแยกอาการเหล่านี้ และให้วินิจฉัยที่ถูกต้อง

– โรคไบโพลาร์ที่เกิดจากสารเสพติด และอาการทางจิตเวชที่เกิดจากโรคทางกายอื่นๆ เช่น ฮอร์โมนไทรอยด์เปลี่ยนแปลง, โรคทางสมองที่เป็นผลจากโรค SLE

– ภาวะอารมณ์เปลี่ยนแปลงช่วงมีประจำเดือน ซึ่งจะมีอารมณ์เปลี่ยนแปลงได้ง่าย โดยอาจมีทั้งหงุดหงิดและซึมเศร้า

– โรคสมาธิสั้น ซึ่งอาจมีสมาธิจดจ่อได้น้อย ทำกิจกรรมหลายอย่างพร้อมกัน และพูดเร็ว คล้ายโรคไบโพลาร์ได้

– บุคลิกแปรปรวนชนิดก้ำกึ่ง มีอารมณ์ที่เปลี่ยนแปลงง่าย ความมั่นคงน้อย

การตรวจรักษา..

เป็นขั้นตอนแรกที่ต้องนึกถึง เนื่องจากตรวจด้วยตัวเองยาก ระยะเวลาในการรักษาของแต่ละคนจะตอบสนองต่อการรักษาที่ไม่เหมือนกัน ยาที่ใช้ในการรักษาแต่ละช่วงจะแตกต่างกัน โดยทั่วไปแพทย์คาดหวังว่าภายใน 1 เดือน จะทำให้อาการของผู้ป่วยสงบได้หมด อาการสำคัญควรจะหายได้ภายใน 1 สัปดาห์ เมื่อผู้ป่วยหายแล้วมีแนวโน้มที่จะปรับยาลงเรื่อยๆ เท่าที่จำเป็น ผู้ป่วยควรได้รับการรักษาเพื่อให้หายเป็นปกติ

ขอขอบคุณข้อมูลจาก : ผศ.นพ.อวิรุทธ์ อุ่นอารมย์ อาจารย์ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่