“นอนไม่หลับ” อาการที่ไม่ควรมองข้าม หากปล่อยไว้อันตรายต่อสุขภาพร่างกายและสุขภาพจิต
นายแพทย์เอนก กนกศิลป์ ผู้อำนวยการสถาบันโรคทรวงอก กรมการแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า โรคนอนไม่หลับเกิดขึ้นได้หลายสาเหตุ โดยมีปัจจัยเสี่ยง เช่น ลักษณะของบุคคล นอนหลับไม่ลึก หูไว ตื่นง่าย หรือมีความวิตกกังวลง่าย ปัจจัยกระตุ้น การเปลี่ยนงาน การเสียชีวิตของคนที่รัก การหย่าร้าง พฤติกรรมของผู้ป่วย การนอนอยู่บนเตียงเป็นเวลานานๆ การดื่มกาแฟช่วงเวลาเย็นหรือก่อนนอน นอนกลางวันหลังบ่ายสามโมง เป็นต้น โดยผู้ป่วยสามารถสังเกตอาการของการนอนหลับได้ เช่น นอนหลับได้ยาก นอนหลับไม่ต่อเนื่อง นอนหลับไม่สนิท ตื่นเร็วกว่าเวลาที่ควรจะตื่น รวมทั้งมีอาการอ่อนเพลีย ไม่มีแรง สมาธิลดลง ความสนใจและความจำลดลง อารมณ์ไม่ดี หงุดหงิดง่าย และเกิดอาการง่วงนอนตอนกลางวัน อาการเหล่านี้อาจบ่งชี้ได้ว่าผู้ป่วยเป็นโรคนอนไม่หลับ ซึ่งหากปล่อยไว้เป็นระยะเวลานานอาจส่งผลต่อสุขภาพร่างกาย เพิ่มโอกาสการเป็นโรคซึมเศร้าได้มากกว่าคนปกติถึง 2 เท่า และยังสามารถเพิ่มโอกาสการเกิดโรคหัวใจขาดเลือด ภาวะหัวใจวาย ความดันโลหิตสูง โรคไขมันสูง โรคเบาหวาน โรคอ้วน และอาจเพิ่มอัตราการเสียชีวิต นอกจากนี้โรคนอนไม่หลับเรื้อรังยังเพิ่มโอกาสการเกิดอุบัติเหตุจากการขับรถและอุบัติเหตุจากการทำงานได้
ดังนั้นการนอนหลับจึงมีความสำคัญต่อสุขภาพ หากพบว่ามีอาการนอนไม่หลับหรือสงสัยว่าตนเอง อาจเป็นโรคนอนไม่หลับ ควรไปพบแพทย์เฉพาะทางด้านการนอนหลับ เพื่อตรวจหาสาเหตุและทำการรักษาอย่างถูกต้อง การนอนหลับพักผ่อนที่เพียงพอ ทำให้ร่างกายมีสุขภาพที่สมบูรณ์แข็งแรง ห่างไกลจากโรคร้ายและลดการอุบัติเหตุอันตรายต่างๆ ได้อีกด้วย