ช่วงค่ำวันที่ 7 ธันวาคม 2564 ดาวศุกร์จะปรากฏสว่างที่สุดในรอบปี สว่างเด่น เห็นชัดเจนด้วยตาเปล่าทางทิศตะวันตก หลังดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้าจนถึงเวลาประมาณ 20:00 น.
ดาวศุกร์สว่างที่สุดในรอบปี เป็นช่วงที่ดาวศุกร์มีขนาดเสี้ยวค่อนข้างใหญ่ และโคจรห่างจากโลกในระยะที่เหมาะสม มีค่าอันดับความสว่างปรากฏมากถึง -4.6 หากสังเกตผ่านกล้องโทรทรรศน์ดาวศุกร์จะปรากฏเป็นเสี้ยวคล้ายดวงจันทร์ สำหรับในช่วงวันอื่น ๆ แม้ดาวศุกร์จะมีเสี้ยวที่หนากว่า แต่ด้วยตำแหน่งอยู่ที่ห่างจากโลก ความสว่างจึงลดลงตามไปด้วย
ดาวศุกร์ เป็นดาวเคราะห์ที่สว่างที่สุดบนท้องฟ้า และเป็นดาวเคราะห์ในระบบสุริยะลำดับที่ 2 ถัดจากดาวพุธ มีวงโคจรใกล้ดวงอาทิตย์มากกว่าโลก ตำแหน่งของดาวศุกร์ที่ปรากฏบนท้องฟ้าจะอยู่ห่างจากดวงอาทิตย์ได้ไม่เกิน 47 องศา เราจึงสังเกตเห็นดาวศุกร์ได้เพียงช่วงเวลาสั้น ๆ หลังดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้าหรือก่อนดวงอาทิตย์ขึ้นเท่านั้น ไม่เคยปรากฏอยู่กลางท้องฟ้าหรือเวลากลางดึก หากดาวศุกร์ปรากฏบนฟ้าในช่วงหัวค่ำทางทิศตะวันตก หลังดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้า คนไทยจะเรียกว่า “ดาวประจำเมือง” แต่หากดาวศุกร์ปรากฏในช่วงเช้ามืดทางทิศตะวันออก ก่อนดวงอาทิตย์ขึ้น คนไทยจะเรียกว่า “ดาวประกายพรึก”
NARIT ชวนร่วมสังเกตการณ์ดาวศุกร์สว่างที่สุดในรอบปี และวัตถุท้องฟ้าอื่น ๆ ในคืนดังกล่าว ได้แก่ ดวงจันทร์เสี้ยวบาง ข้างขึ้น 3 ค่ำ ดาวเสาร์ และดาวพฤหัสบดี ที่จุดสังเกตการณ์หลัก 3 แห่ง
– อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร อ. แม่ริม จ. เชียงใหม่ โทร. 081-8854353
– หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติฯ 7 รอบ พระชนมพรรษา นครราชสีมา โทร. 086-4291489
– หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติฯ 7 รอบ พระชนมพรรษา ฉะเชิงเทรา โทร. 038-589395
พร้อมมาตรการด้านสุขอนามัย เพื่อลดความเสี่ยงจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ผู้สนใจเข้าร่วมขอความร่วมมือลงทะเบียนล่วงหน้าที่ https://bit.ly/NARIT-Venus2021