นายกรัฐมนตรี ชื่นชมผลงานศึกษาวัคซีนโควิด-19 สูตรไขว้จากกระทรวงสาธารณสุขและสถาบันการศึกษาในไทยได้รับการยอมรับในระดับสากล ย้ำเป็นความก้าวหน้าสำคัญของประเทศ
เมื่อวันที่ 17 ธ.ค. 2564 น.ส.ไตรศุลี ไตรสรกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ได้รับทราบรายงานจากกระทรวงสาธารณสุขว่า ขณะนี้ผลงานการศึกษาทางวิชาการเกี่ยวกับการฉีดวัคซีนโควิด-19 โดยการใช้วัคซีนสูตรไขว้ของนักวิชาการไทย ได้รับการยอมรับและอ้างอิงในรายงานทางวิชาการโดยกลุ่มผู้เชี่ยวชาญที่ให้คำแนะนำเกี่ยวกับการใช้วัคซีนโควิด-19 (Strategic Advisory Group of Expert-SAGE) ขององค์การอนามัยโลก (WHO) ซึ่งแสดงให้เห็นว่าแนวทางการฉีดวัคซีนโควิด-19 สูตรไขว้ในประเทศไทยเริ่มได้รับการยอมรับในระดับสากล
“ท่านนายกรัฐมนตรีรับทราบความก้าวหน้าที่น่ายินดี และชื่นชมคณะผู้ศึกษาจากทั้งกระทรวงสาธารณสุขและมหาวิทยาลัยต่างๆ ซึ่งผลงานจากประเทศไทยที่ได้รับการอ้างอิงโดยนักวิชาการ SAGE ในครั้งนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญที่ทำให้ทั่วโลกยอมรับในแนวทางที่ประเทศไทยดำเนินการให้วัคซีนแก่ประชาชนเป็นแนวทางที่มีประสิทธิภาพที่สุด” น.ส.ไตรศุลี กล่าว
รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เมื่อวันที่ 16 ธ.ค. WHO ได้ออกรายงานทางวิชาการเรื่อง Interim recommendations for heterologous COVID-19 vaccine schedules ซึ่งมีสาระสำคัญเป็นข้อแนะนำแนวการฉีดวัคซีนโควิด-19 ชั่วคราว เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการป้องกันโรคในระดับสูงสุด ในเวลาที่รวดเร็ว
ทั้งนี้ ในการออกคำแนะนำชั่วคราวของกลุ่ม SAGE ครั้งนี้ได้อ้างอิงถึงผลงานวิชาการที่ศึกษาสูตรการฉีดวัคซีนทั้งหมด 48 ผลงาน โดยมีผลงานของประเทศไทยที่ได้รับการอ้างอิงทั้งหมด 5 ผลงาน ทั้งหน่วยงานของกระทรวงสาธารณสุข และสถาบันต่างๆ ได้แก่ สถาบันชีววิทยศาสตร์ทางการแพทย์ สถาบันชีววัตถุ สถาบันโรคผิวหนัง กรมควบคุมโรค และ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)
น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า ในช่วงที่นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข เดินทางไปร่วมประชุม สมัชชาอนามัยโลก สมัยพิเศษ ณ สำนักงานใหญ่องค์การอนามัยโลก(WHO) นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส เมื่อวันที่ 1 พ.ย. 64 รองนายกรัฐมนตรีได้หารือทวิภาคีกับนาย Tedros Adhanom Ghebreyesus ผู้อำนวยการใหญ่ WHO โดยได้แลกเปลี่ยนถึงแนวทางการให้วัคซีนสูตรไขว้ในประเทศไทย ซึ่งรองนายกรัฐมนตรีระบุถึงผลการศึกษาโดยนักวิชาการไทยว่าได้ผลสร้างภูมิคุ้มกันโรคในระดับสูง ในระยะเวลาที่สั้น ซึ่งหาก WHO มีงานวิชาการที่รับรองแนวทางของไทยจะทำให้เป็นประโยชน์กับทั่วโลก
“ประเทศไทยได้ผลักดันผ่านเวทีต่างๆ ให้ทั่วโลกเห็นว่าการใช้วัคซีนสูตรไขว้ให้ประสิทธิผลในการป้องกันโรคในระดับสูง รวมถึงในช่วงการร่วมประชุมกับ WHO ท่านรองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุขก็ได้แลกเปลี่ยนเรื่องนี้กับผู้อำนวยการใหญ่ WHO ซึ่งการที่ผลงานทางวิชาการของไทยได้รับการอ้างอิงในเอกสารคำแนะนำของ WHO ก็นับเป็นความก้าวหน้าที่สำคัญของไทย” น.ส.ไตรศุลี กล่าว