รู้ทันอัลไซเมอร์! อันตราย ไม่ใช่แค่หลงลืม
ในปัจจุบันมีคนเป็นโรคสมองเสื่อม 46.8 ล้านคน จากสถิติพบว่าทุกๆ 3 วินาที จะมีคนเป็นโรคสมองเสื่อมรายใหม่ 1 คน และเพิ่มเป็นสองเท่า ในทุก 20 ปี ผู้ที่เป็นโรคสมองเสื่อมส่วนใหญ่พบว่ามีอาการหลงลืม เช่น ลืมอดีตที่เป็นเหตุการณ์สำคัญที่ควรจดจำได้ ปัจจัยหนึ่งที่สำคัญคือการมีอายุที่มากขึ้น ดังนั้นอายุที่มากขึ้นก็มีโอกาสพบอาการสมองเสื่อมได้มากขึ้นตามไปด้วย
สมองเสื่อมกับอัลไซเมอร์ต่างกันยังไง?
ภาวะสมองเสื่อมในอายุต่างๆ จะมีความแตกต่างกันไป อาการสมองเสื่อมในผู้ที่มีอายุน้อย อาจจะเป็นเรื่องของความกังวลใจ ความเครียด ภาระงานหลายเรื่อง ทำให้สมองมีประสิทธิภาพการทำงานลดลง
อาการต้องสงสัยของสมองเสื่อม อาทิ
– ชอบถามคำถามเดิมๆ ซ้ำๆ จำเหตุการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้นไม่ได้
– ทำของหายบ่อยๆ ลืมของไว้ในที่ๆ ไม่ควรวาง
– หลงทางเวลาออกนอกบ้าน รู้สึกสับสนเวลาอยู่ในที่ไม่คุ้นเคย
– เรียกชื่อคน หรือสิ่งของได้ไม่ถูกต้อง
– สับสนเรื่องวัน เวลา สถานที่ ในปัจจุบัน
– ความสามารถในการตัดสินใจในสถานการณ์ต่างๆ ลดลง
– ทำกิจวัตรประจำวัน การประกอบอาชีพ และงานอดิเรกที่เคยทำตามปกติไม่ได้
– อารมณ์ และพฤติกรรมผิดปกติ สับสน หวาดระแวง ซึมเศร้า
สาเหตุในการเกิดโรคอัลไซเมอร์ ไม่สามารถทราบแน่ชัดได้ว่าเกิดจากอะไร โดยมีหลายปัจจัยที่เกี่ยวข้อง โดยแบ่งเป็น ปัจจัยเสี่ยงกลุ่มที่เปลี่ยนแปลงได้ และที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้
กลุ่มที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้
– อายุมากขึ้นจะมีความเสี่ยงเกิดโรคอัลไซเมอร์ได้มากขึ้น
– เพศ พบว่าผู้หญิงเป็นอัลไซเมอร์มากกว่าผู้ชาย แต่ผู้ชายเป็นโรคหลอดเลือดสมอง ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดโรคสมองเสื่อมได้เช่นเดียวกันมากกว่าผู้หญิง
– เชื้อชาติ พบว่าคนผิวดำมีโอกาสเป็นโรคอัลไซเมอร์ได้มากกว่าคนผิวขาว
– พันธุกรรม เป็นส่วนน้อยมากที่เป็นสาเหตุของสมองเสื่อม ถึงแม้ว่าคนในครอบครัวเป็นโรคอัลไซเมอร์ ก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะเป็นได้ แต่ให้รู้จักโรคไว้ก่อน จะได้ป้องกัน และเข้ารับการตรวจรักษาอย่างรวดเร็ว
ปัจจัยเสี่ยงที่เปลี่ยนแปลงได้ แบ่งตามแต่ละช่วงในชีวิต
– ช่วงต้น ในอายุก่อน 20 ปี (ช่วงศึกษา)
– ช่วงกลาง ภาวะความดันโลหิตสูง การสูญเสียการได้ยิน
– ช่วงท้าย การสูบบุหรี่ ภาวะซึมเศร้า การไม่ได้ทำกิจกรรม การอยู่แยกจากสังคม โรคเบาหวาน
เปลี่ยนวิถีชีวิตเพื่อการป้องกันสมองเสื่อม
– มีความคล่องแคล่ว กระตือรือร้น เคลื่อนไหวร่างกาย รดน้ำต้นไม้ ปลูกผัก ทำกิจกรรมต่างๆ
อะไรที่ดีต่อหัวใจจะดีกับสมองด้วย การออกกำลังกาย ด้วยการมีกิจกรรมเป็นการออกกำลังกายที่มีระดับความเหนื่อยน้อย การออกกำลังกายที่สามารถลดสมองเสื่อมได้ คือ การออกกำลังกายที่มีความเหนื่อยระดับกลางเป็นเวลาอย่างน้อย 150 นาที ต่อสัปดาห์
– รับประทานอาหารครบ 5 หมู่ หรือผัก 5 สีผลไม้ 5 อย่าง ให้มีความหลากหลาย ลดสัดส่วนของคาร์โบไฮเดรตจะเป็นเรื่องที่ดีต่อสุขภาพ ชนิดของคาร์โบไฮเดรตเป็นโมลิกุลเชิงซ้อน เช่น ขนมปังโฮวิท ข้าวกล้อง ผักและผลไม้ต้านอนุมูลอิสระที่ได้จากธรรมชาติ
– หยุดสูบบุหรี่ เป็นความเสี่ยงโรคหลอดเลือดสมอง โรคสมองเสื่อม โรคหัวใจ ซึ่งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตระดับต้นๆ
หยุดดื่มแอล์กอฮอล์ หรือลดปริมาณลง
ฝึกทำสมาธิ
– ดูแลเรื่องสุขภาพ โรคกลุ่มเมตาบอลิก ให้ดี
สาเหตุการเกิดภาวะสมองเสื่อมที่พบบ่อย
– โรคอัลไซเมอร์ พบได้บ่อยที่สุด
– โรคสมองเสื่อมจากภาวะโรคหลอดเลือดสมอง ทำให้การทำงานสมองแย่ลง
– โรคสมองเสื่อมที่มีสาเหตุ สามารถรักษาได้ ได้แก่ ความผิดปกติเมตาบอลิกสมดุลเกลือแร่ โรคตับ โรคไต ไทรอยด์ การกระทบกระเทือนสมอง เนื้องอกในสมอง ภาวะโพรงสมองขยายตัว ภาวะซึมเศร้า การติดเชื้อในสมอง ขาดวิตมิน ยา และโรคสมองอื่นๆ
การรักษา
– ผู้ที่มีภาวะสมองเสื่อมที่มีสาเหตุ จะทำการรักษาที่สาเหตุ
– กลุ่มที่เป็นโรคอัลไซเมอร์ที่เป็นแล้ว การรักษาโดยใช้ยา และการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตและการดูแล โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อให้มีการเสื่อมที่ช้าลง ทำให้ผู้ป่วยและผู้ดูแลได้มีความสุข
ขอขอบคุณข้อมูลจาก:รศ.พญ.ศิวาพร จันทร์กระจ่าง ที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิ ศูนย์โรคสมองภาคเหนือ คณะแพทยศาสตร์ มช.
และ อ.นพ.อดิศักดิ์ กิตติสาเรศ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านโรคทางระบบประสาทและสมอง ศูนย์ศรีพัฒน์ คณะแพทยศาสตร์ มช. คณะกรรมการสมาคมโรคสมองเสื่อมแห่งประเทศไทย