แพทย์ชี้การสะพายกระเป๋านักเรียนที่หนักอาจทำให้เกิดการบาดเจ็บต่อโครงสร้างร่างกายและส่งผลต่อประสิทธิภาพการเรียนรู้ของเด็ก แนะน้ำหนักที่สามารถสะพายได้ไม่ควรเกิน 10 – 20 เปอร์เซ็นต์ของน้ำหนักตัว แนะควรใช้กระเป๋าลากหากต้องสะพายเป็นเวลานาน
นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า จากข่าวที่ออกมาว่าเด็กมีอาการกระดูกสันหลังคดเกิดจากการสะพายกระเป๋านักเรียนหนัก จากข้อมูลพบว่าเด็กไทยวัยประถมแบกกระเป๋าที่มีน้ำหนักเกินกว่าร้อยละ 10 ของน้ำหนักตัวเด็ก ซึ่งโดยปกติเด็กควรสะพายกระเป๋านักเรียนน้ำหนักไม่เกิน 10 – 20 เปอร์เซ็นต์ของน้ำหนักตัวเด็ก เช่น หากมีเด็กน้ำหนัก 30 กก. น้ำหนักกระเป๋าที่เด็กสามารถถือได้ต้องไม่เกิน 3 กก. เท่านั้น
แต่ปัจจุบันพบว่ากระเป๋านักเรียน 1 ใบ มีน้ำหนักสูงถึง 4 – 6 กก. การที่ต้องแบกกระเป๋าใบใหญ่ ทั้งหนักและนานอาจทำให้เกิดการบาดเจ็บต่อโครงสร้างร่างกายและส่งผลต่อประสิทธิภาพการเรียนรู้ของเด็ก ในวัยอนุบาลหรือประถมต้นยังมีการทรงตัวที่ไม่ดีนักเนื่องจากอยู่ในช่วงการเจริญเติบโตและพัฒนาการการทรงตัว อีกทั้งกำลังแขนขายังไม่แข็งแรงการแบกกระเป๋าใบใหญ่และน้ำหนักมาก อาจทำให้เด็กล้มง่าย เดินลำบากมากขึ้น เกิดการบาดเจ็บทั้งจากการล้มและกล้ามเนื้อที่ใช้ในการแบกกระเป๋า ทั้งนี้ กระเป๋านักเรียนที่ใช้อาจแบ่งเป็น 2 ลักษณะ คือ แบกกระเป๋าโดยใช้มือถือ และแบกกระเป๋าโดยแขวนหลัง (back pack) ซึ่งแบบมือถือไม่เหมาะกับการแบกเป็นเวลานานอาจเกิดการบาดเจ็บ และเสียสมดุลร่างกายได้มากกว่าแบบแขวนหลังแต่อย่างไรก็ตาม การแบกกระเป๋าที่หนักเป็นเวลานานจะเพิ่มโอกาสในการบาดเจ็บต่อโครงสร้างร่างกายโดยเฉพาะแขนไหล่และสะบัก
นายแพทย์สมพงษ์ ตันจริยภรณ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเลิดสิน กรมการแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า โรคกระดูกสันหลังคด เป็นการคดงอหรือบิดเบี้ยวของกระดูกสันหลังไปด้านข้างทำให้เสียสมดุล โดยแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ 1 กลุ่มที่ไม่ทราบสาเหตุพบบ่อยถึง 80% ในเด็ก ซึ่งแบ่งตามอายุที่เริ่มเป็น คือ 0-3 ปี 4-10 ปี และ 11-18 ปี พบบ่อยในเด็กผู้หญิงมากว่าเด็กผู้ชาย 2 กลุ่มที่ทราบสาเหตุ เกิดจากโรคทางพันธุกรรม เช่น ท้าวแสนปม ความผิดปกติของกล้ามเนื้อ เช่น เด็กสมองพิการ โปลิโอ กลุ่มสาเหตุนี้จะทำให้กระดูกสันหลังคดมาก ผู้ปกครองสามารถสังเกตอาการโรคกระดูกสันหลังคดได้โดยสังเกตจากลำตัวของเด็กจะเอียงไปข้างใดข้างหนึ่ง เมื่อเด็กยืนหันหลังจะสังเกตเห็นความสูงของระดับหัวไหล่ ความนูนของกระดูกสะบัก ระดับแนวกระดูกสะโพกที่ไม่เท่ากัน รวมถึงหน้าอก ซี่โครงด้านใดด้านหนึ่งยื่นออกมาด้านหน้า หรือให้เด็กยืนเท้าชิดกัน และให้ก้มตัวมาทางด้านหน้าใช้มือ 2 ข้างพยายามแตะพื้นจะเห็นความนูนของหลังไม่เท่ากัน หากกระเป๋ามีน้ำหนักเกิน หรือต้องแบกเป็นเวลานานควรเปลี่ยนจากกระเป๋าแขวนหลังเป็นกระเป๋าลาก เพื่อป้องกันการปวดหลัง จึงขอแนะนำให้ผู้ปกครองควรสังเกตอาการของเด็ก โดยเฉพาะช่วงอายุ 10-13 ปี หากกระดูกสันหลังผิดรูป ไหล่สูงต่ำไม่เท่ากันควรพาเด็กมาพบแพทย์ เพื่อตรวจยืนยันและให้การรักษาต่อไป