ม่อนแจ่ม ยังไม่จบ! อธิบดีกรมป่าไม้สั่งชุดพยัคฆ์ไพร พร้อมกำลังเจ้าหน้าที่ ลุยดำเนินคดีรีสอร์ตบุกรุกป่าบนม่อนแจ่ม
วันที่ 28 ม.ค. 65 รายงานข่าวแจ้งว่า นายวราวุธ ศิลปอาชา อธิบดีกรมป่าไม้ดำเนินการตามแนวนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สั่งการให้นายกมล นวลใย ผู้อำนวยการสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 1 (เชียงใหม่) นายสมบูรณ์ ธีรบัณฑิตกุล ผู้อำนวยการสำนักป้องกันรักษาป่าและควบคุมไฟป่า โดยมอบหมายให้นายชาญชัย กิจศักดาภาพ หัวหน้าหน่วยเฉพาะกิจปราบปรามพิเศษ (พยัคฆ์ไพร) นายสักรินทร์ ปัญญาใจ ผอ.ศูนย์ป้องกันปราบปรามที่ 3 (ภาคเหนือ) เชียงใหม่ นายสายพิณ เปียสวน ผู้อำนวยการส่วนป้องกันรักษาป่าและควบคุมไฟป่า นายสัมพันธ์ พุฒด้วง ผู้อำนวยการศูนย์ป่าไม้ สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 1 (เชียงใหม่) นำกำลังเจ้าหน้าที่ กว่า 200 นาย ร่วมกันตรวจสอบการก่อสร้างที่พักบริการนักท่องเที่ยวบริเวณม่อนแจ่ม จำนวน 2 จุด โดยสนธิกำลังร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจป่าไม้ ฝ่ายปกครอง ตำรวจ สภ.แม่ริม และทหาร โดย ได้ดำเนินการตรวจสอบดังนี้
จุดที่ 1 ใกล้กับรีสอร์ตหว่าญ๋า (สายข่าวแจ้งว่าเป็นของผู้ปกครองท้องที่ดังกล่าว) พบมีการบุกรุกพื้นที่เพิ่มเติมประมาณ 0-2-72 ไร่ มีสิ่งก่อสร้างที่พักจำนวน 2 หลัง โดยมีการต่อระบบน้ำระบบไฟออกมาจากที่พักหว่าญ่า จนท.จึงได้รวบรวมพยานหลักฐานพยานแวดล้อมพร้อมถ่ายภาพเพื่อดำเนินการต่อไป
และจุดที่ 2 รีสอร์ตภูโมริน พบมีการบุกรุกเนื้อที่ 1-3-92 ไร่ มีสิ่งปลูกสร้างและที่พักนักท่องเที่ยว จำนวน 20 รายการ
โดยทางคณะเจ้าหน้าที่ฯ ได้รวบรวมพยานหลักฐานเพื่อร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวน สภ.แม่ริม ตาม พรบ. ป่าสงวนแห่งชาติ2507 พรบ.ป่าไม้พุทธศักราช 2484 พรบ.ควบคุมอาคาร และพรบ.โรงแรม เพื่อสืบสวนสอบสวนตามพยานแวดล้อมที่ จนท.ได้จัดทำบันทึกไว้เป็นหลักฐานต่อไป
สำหรับการเข้าตรวจสอบดังกล่าว เนื่องจากมีการร้องเรียนว่ามีนายทุนการบุกรุกพื้นที่ป่าเพื่อสร้างรีสอร์ต ที่พักให้บริการนักท่องเที่ยว โดยก่อนหน้านี้มีการดำเนินคดีกับนายทุนที่บุกรุกพื้นที่ป่าสงวนในพื้นที่ม่อนแจ่มแล้วกว่า 35 ราย สำนวนคดีความอยู่ในชั้นอัยการ
สำหรับพื้นที่ม่อนแจ่มอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าแม่ริม ซึ่งพื้นที่เกือบทั้งสิ้นอยู่พื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 1 และเป็นแหล่งต้นน้ำลำธาร โดยที่ผ่านมากรมป่าไม้ได้เข้าทำการควบคุมและอยู่ระหว่างการจัดทำแผนแม่บทแก้ไขปัญหาร่วมกับจังหวัดเชียงใหม่ และชุมชนซึ่งได้มีการพูดคุยกับชุมชนแล้วว่าให้ยุติการก่อสร้างที่พักนักท่องเที่ยวเพิ่มเติมไว้ก่อน กระทั่งกรมป่าไม้ได้มีประกาศห้ามนำอิฐ หิน ปูน ทราย ขึ้นไปทำการก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างใดๆ เว้นแต่สร้างที่พักอาศัยเท่านั้น แต่ยังพบมีการลักลอบก่อสร้างที่พักนักท่องเที่ยว จนเป็นที่มาของการเข้าตรวจสอบและดำเนินคดีในครั้งนี้
ในส่วนของรีสอร์ตหว่าญ่าซึ่งมี่ที่พักนักท่องเที่ยว 16 หลัง จุดชมวิว (เทอเรส) 9 จุดร้านกาแฟ 1หลัง ร้านอาหาร 1 หลัง โดยหลังจากนี้ทางเจ้าหน้าที่จะได้ทำการรวบรวมพยานหลักฐานพิสูจน์การครอบครองเพื่อดำเนินการต่อไป