รู้จัก “พลังใบกระท่อม” ออกฤทธิ์คล้ายกาแฟ แต่ไม่ได้ทำให้ดีด ใช้แก้ปวดเมื่อยช่วยให้ทำงานทนแดดได้ดี
กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า พลังใบกระท่อม การออกฤทธิ์ของกระท่อมคล้ายกันกับกาแฟ ไม่ได้ทำให้ดีด สรรพคุณตามภูมิปัญญาหมอพื้นบ้านและวิถีชุมชน ใช้แก้ปวดเมื่อย ช่วยให้ทำงานทนแดดได้ดี ใช้แก้ไอ และ เป็นส่วนประกอบของตำรับยาแก้ท้องเสีย แก้บิด คำเตือนห้ามใช้ในเด็ก สตรีมีครรภ์ ผู้ที่วางแผนจะตั้งครรภ์ และ หญิงให้นมบุตร ควรระวังการใช้ในผู้ป่วยโรคตับ โรคไต และ โรคหัวใจที่ยังควบคุมอาการไม่ได้
ด้านนายแพทย์มานัส โพธาภรณ์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า แต่เดิมประเทศไทยจัดให้กระท่อมเป็นยาเสพติดประเภทที่ 5 ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 แต่ในปัจจุบันได้มีการพิจารณาผ่านรัฐสภาและมีมติปลดล็อกกระท่อมออกจากบัญชียาเสพติด โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 24 สิงหาคม 2564 ที่ผ่านมา ทำให้ประชาชนทั่วไปสามารถปลูก หรือซื้อ ขาย ใบสด ที่ไม่ได้ปรุงหรือทำเป็นอาหารได้โดยไม่ผิดกฎหมาย กระท่อมเป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ปานกลางเป็นสมุนไพรท้องถิ่นที่ชาวบ้านใช้กันมาอย่างยาวนาน โดยใช้ใบสดหรือใบแห้งนำมาเคี้ยว สูบ หรือชงเป็นน้ำชา เพื่อให้มีแรงทำงานได้นานขึ้น รู้สึกกระปรี้กระเปร่า ไม่อยากอาหาร ทนแดดมากขึ้น แต่จะเกิดอาการหนาวสั่นเวลาครึ้มฟ้าครึ้มฝน ในคนที่รับประทานใบกระท่อมเป็นครั้งแรก อาจจะมีอาการมึนงง คอแห้ง คลื่นไส้อาเจียน หากใช้ในปริมาณมากอาจจะทำให้เกิดอาการเมา เกิดความผิดปกติของกล้ามเนื้อทรงตัว ระบบประสาทรับสัมผัสตอบสนองต่อสิ่งต่าง ๆ ลดลง เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจ ในรายที่ใช้มาก ๆ หรือใช้มาเป็นระยะเวลานาน มักจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของเม็ดสีขึ้นที่บริเวณผิวหนัง ทำให้มีผิวสีคล้ำและเข้มขึ้น การรับประทานใบกระท่อมไม่ควรรับประทานเกินวันละ 5 ใบ โดยรูดก้านใบออกแล้วเคี้ยวเหมือนการเคี้ยวหมาก และไม่ควรกลืนกากเพราะกากใบเป็นเส้นใยที่ย่อยยาก เมื่อรับประทานบ่อย ๆ อาจทำให้เกิด “ถุงท่อม” ซึ่งมีลักษณะเป็นก้อนแข็งอยู่ในท้องและทำให้ปวดท้องได้