“มะเร็งรักษาทุกที่” ผู้ป่วยมะเร็งเลือกรักษาในสถานพยาบาลได้กว่า 190 แห่งทั่วประเทศ ไม่ต้องใช้ใบส่งตัว
เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2565 ที่ โรงพยาบาลร้อยเอ็ด จ.ร้อยเอ็ด นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังเป็นประธานเปิดการประชุมวิชาการวันมะเร็งโลกปี 2565 ภายใต้หัวข้อ “ยกระดับหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน” ของเขตสุขภาพที่ 7 ว่า รัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุขให้ความสำคัญกับการพัฒนาระบบบริการบำบัดรักษาโรคมะเร็ง ซึ่งเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญของประเทศ อาทิ การยกระดับบริการคัดกรองปากมดลูก จากวิธี PAP smear และวิธี VIA เป็นการหาการติดเชื้อ HPV บริเวณช่องคลอด ซึ่งมีความแม่นยำสูง เก็บตัวอย่างได้ด้วยตัวเอง ช่วยแก้ปัญหาการเข้าไม่ถึงบริการของผู้หญิงจำนวนมาก, การคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ด้วยการตรวจหาเลือดในอุจจาระ,การป้องกันมะเร็งเต้านม โดยเพิ่มสิทธิประโยชน์การตรวจยีนเสี่ยงมะเร็งสำหรับสตรีที่มีประวัติโรคมะเร็งในครอบครัว, การป้องกันมะเร็งช่องปาก ด้วยการคัดกรองรอยโรคระยะก่อนมะเร็งโดยทันตบุคลากรในชุมชนร่วมกับการรักษาที่เหมาะสม, การเพิ่มสิทธิประโยชน์การตรวจ PET/CT Scan สำหรับมะเร็งปอดและมะเร็งต่อมน้ำเหลือง, การผ่าตัดแบบวันเดียวกลับสำหรับมะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งปอด มะเร็งไต มะเร็งตับอ่อนและมะเร็งท่อน้ำดี, การให้เคมีบำบัดที่บ้านสำหรับผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่ รวมถึงการใช้กัญชาทางการแพทย์ในการบรรเทาอาการข้างเคียงสำหรับผู้ป่วยมะเร็งที่รับเคมีบำบัด และผู้ป่วยมะเร็งที่รับการรักษาแบบประคับประคอง ช่วยให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น นอกจากนี้ ได้กำหนดนโยบาย “มะเร็งรักษาทุกที่” (Cancer Anywhere) พร้อมกับพัฒนาศักยภาพโรงพยาบาลในการให้บริการบำบัดรักษาโรคมะเร็ง เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถเลือกสถานที่รักษาได้มากกว่า 190 แห่งทั่วประเทศ โดยไม่ต้องใช้ใบส่งตัว ช่วยลดขั้นตอนให้ได้รับการรักษาอย่างรวดเร็วในสถานพยาบาลใกล้บ้าน เพิ่มโอกาสการรอดชีวิต
สำหรับศูนย์มะเร็งเฉลิมพระเกียรติจุฬาภรณ์ โรงพยาบาลร้อยเอ็ด เป็นศูนย์เชี่ยวชาญระดับสูงด้านมะเร็งตับและท่อทางเดินน้ำดีแบบครบวงจรของภูมิภาคอาเซียน มีหน่วยรังสีรักษาด้วยเครื่องฉายแสงชนิด 3 มิติ (LINAC) ให้บริการฉายรังสีให้กับผู้ป่วยมะเร็งในจังหวัดร้อยเอ็ด มหาสารคาม กาฬสินธุ์ และจังหวัดอื่นๆ ได้ 1,000 รายต่อปีได้จัดหาเครื่องเร่งอนุภาคพลังงานสูงชนิดแปรความเข้มเชิงปริมาตร (LINAC) ด้วยงบประมาณภายใต้โครงการจัดหาครุภัณฑ์เครื่องฉายรังสีสำหรับแก้ปัญหาผลกระทบจากโรคโควิด 19 ด้านการแพทย์ เพิ่มอีก 1 เครื่องช่วยเสริมศักยภาพการให้บริการผู้ป่วยได้เพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคมะเร็งท่อน้ำดีจากพยาธิใบไม้ตับ ซึ่งภาคอีสานมีอัตราป่วยและเสียชีวิตสูงที่สุด ทั้งนี้ สิ่งสำคัญไม่ใช่เพียงการเพิ่มศักยภาพในการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็ง แต่ต้องสื่อสารให้ความรู้แก่ประชาชน ในการป้องกันตัวเองให้ห่างไกลจากโรคมะเร็งด้วย นายอนุทิน กล่าวในตอนท้าย