เชียงใหม่เฝ้าระวังการติดเชื้อโควิด-19 ในคลัสเตอร์กลุ่มโรงเรียน วิทยาลัย และร้านอาหารและเครื่องดื่มอย่างใกล้ชิด
วันที่ 8 ก.พ. 65 สถานการณ์การแพร่ระบาดโรคโควิด-19 จังหวัดเชียงใหม่ พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ เพิ่ม 252 ราย โดยเป็นผู้ติดเชื้อจากต่างจังหวัด 11 ราย ได้แก่ ระยอง 4 ราย เชียงราย 3 ราย กรุงเทพมหานคร ภูเก็ต ลำปาง และสงขลา จังหวัดละ 1 ราย ส่วนอีก 241 ราย เป็นผู้ติดเชื้อในจังหวัด โดยในขณะนี้มีคลัสเตอร์ที่ยังต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด จำนวน 3 คลัสเตอร์ ประกอบด้วย 1. คลัสเตอร์กลุ่มโรงเรียน คือโรงเรียนศึกษาสงเคราะห์ ตำบลดอนแก้ว อำเภอแม่ริม ตรวจ ATK พบผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่ม 16 ราย ยอดรวมทั้งหมด 269 ราย , โรงเรียนวชิรวิทย์ ตำบลหนองป่าครั่ง อำเภอเมืองเชียงใหม่ ตรวจ RT-PCR และ ATK พบรายใหม่ 2 ราย ยอดรวมทั้งหมด 22 ราย, โรงเรียนเชียงใหม่มัธยมฝั่งประถมศึกษา ตำบลสบเปิง อำเภอแม่แตง ตรวจ RT-PCR พบรายใหม่ 9 ราย ยอดรวมทั้งหมด 14 ราย , โรงเรียนต้นกล้า ตำบลหนองจ๊อม อำเภอสันทราย ตรวจ RT-PCR และ ATK พบใหม่ 8 ราย ยอดรวมทั้งหมด 14 ราย, โรงเรียนจอมทอง อ.จอมทอง ตรวจ ATK พบรายใหม่ 4 ราย ยอดรวมทั้งหมด 9 ราย จึงขอให้ทุกโรงเรียนที่เปิดเรียน On Site เคร่งครัดในมาตรการป้องกันโรคอย่างเต็มที่ และต้องปฏิบัติตามแผนเผชิญเหตุ กรณีพบผู้ติดเชื้อในสถานศึกษา
ด้านคลัสเตอร์กลุ่มร้านจำหน่ายอาการและเครื่องดื่ม พบทั้งหมด 3 ร้าน ประกอบด้วย ร้านเลอเนิร์ฟ คาเฟ่ ตรวจ RT-PCR พบรายใหม่ 3 ราย ยอดรวมทั้งหมด 8 ราย, ร้านฮอมบาร์ ตรวจ RT-PCR พบรายใหม่ 1 ราย ยอดรวมทั้งหมด 16 ราย, ร้านฉลุย ตรวจ RT-PCR และ ATK พบใหม่ 2 ราย ยอดรวมทั้งหมด 3 ราย และคลัสเตอร์อื่นๆ ประกอบด้วย บริษัท Toyota นครพิงค์ แม่เหียะ ตรวจ RT-PCR พบเพิ่ม 2 ราย ยอดรวมทั้งหมด 7 ราย และงานศพ หมู่ 8 ตำบลสบเปิง อำเภอหางดง ตรวจ RT-PCR และ ATK พบเพิ่ม 10 ราย ยอดรวม 16 ราย
นอกจากนี้ยังพบผู้ติดเชื้อจากคลัสเตอร์การระบาดในครอบครัวเพิ่ม จำนวน 4 ราย จากทั้งหมด 3 ครอบครัว ส่วนผู้ติดเชื้อจากการสัมผัสเชื้อรายก่อนหน้า พบมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยวันนี้พบมากถึง 157 ราย และยังมีผู้ติดเชื้อที่อยู่ระหว่างการสอบสวน และเชื่อมโยงคลัสเตอร์อีก 50 ราย
ด้านข้อมูลผู้เสียชีวิต 3 รายวันนี้ รายแรก เป็นชายไทย อายุ 67 ปี มีโรคประจำตัว คือ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง และไตวาย ได้รับวัคซีนครบ 3 เข็ม เมื่อ 21 มกราคม 2565 ที่ผ่านมา โดยวันที่ 2 กุมภาพันธ์ เริ่มมีอาการข้า ไอ หายใจเหนื่อย และนำส่งโรงพยาบาลนครพิงค์ ตรวจ RT-PCR ยืนยันว่าติดเชื้อโควิด เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2565 ต่อมาพบระบบหายใจล้มเหลวและเสียชีวิตในวันเดียวกัน
รายที่สอง เป็นชายไทย อายุ 67 ปี มีโรคประจำตัว คือ โรคพิษสุราเรื้อรัง ได้รับการฉีดวัคซีน เพียง 1 เข็ม เริ่มมีอาการอ่อนเพลีย ทานได้น้อย เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลสารภี ต่อมาตรวจ RT-PCR พบยืนยันติดเชื้อโควิด จึงได้ส่งต่อไปรักษาที่โรงพยาบาลนครพิงค์ และเสียชีวิตเพราะระบบหายใจล้มเหลว เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2565
รายสุดท้าย เป็นหญิงไทย อายุ 71 ปี มีโรคประจำตัว คือ ความดันโลหิตสูง และไตวาย ไม่เคยได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด มาก่อน โดยวันที่ 26 ธันวาคม 2564 เข้ารับการฟอกไตที่คลินิกเอกชน ตรวจ ATK ก่อนฟอกไตผลเป็นบวก จึงได้นำตัวส่ง โรงพยาบาลสันทราย ตรวจ RT-PCR พบว่าติดเชื้อโควิด จึงส่งต่อไปรักษาที่ โรงพยาบาลนครพิงค์ จนกระทั่งเสียชีวิตเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2565
ทั้งนี้ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้กำหนดนิยามของผู้สัมผัสใกล้ชิด คือ ผู้ที่อยู่ใกล้ผู้ติดเชื้อในระยะ 2 เมตร เป็นนานกว่า 5 นาที หรือ อยู่ในพื้นที่ปิดนานกว่า 30 นาที เช่น ในรถยนต์โดยสารติดแอร์ หรือห้องติดแอร์ เน้นย้ำให้กลุ่มสัมผัสใกล้ชิด สังเกตอาการ 10 วัน และลดการเดินทางไปในที่ชุมชน โดยผู้สัมผัสใกล้ชิดเสี่ยงสูง ที่ไม่ได้สวมหน้ากาก ให้กักตัว 7 วัน และสังเกตอาการ 3 วัน รวมทั้งหมด 10 วัน และตรวจ ATK วันที่ 5 และ 10 ของการสัมผัส หรือตรวจเพิ่มเมื่อมีอาการ ส่วนผู้สัมผัสใกล้ชิดเสี่ยงต่ำ หมายถึง ผู้ที่สวมหน้ากากตลอดเวลาขณะใกล้ชิด ให้สังเกตอาการ 10 วัน โดยไม่ต้องกักตัว ส่วนการตรวจหาเชื้อ ตรวจเฉพาะเมื่อมีอาการ หากสังเกตอาการครบ 10 วัน แล้วไม่มีอาการ สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ โดยไม่ต้องตรวจ ATK ดังนั้น จึงขอเน้นย้ำให้ประชาชนปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโควิด-19 อย่างเคร่งครัด
ข่าว : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงใหม่