กรมควบคุมโรค เตือนประชาชนกินหมูดิบหรือสุกๆดิบๆ เสี่ยงป่วยด้วยโรค “ไข้หูดับ” อันตรายถึงเสียชีวิต เผยเชียงใหม่พบผู้ป่วยมากสุดอันดับ 2 ของประเทศ
เมื่อวันที่ 17 ก.พ. 65 กรมควบคุมโรคเปิดเผยว่าจากการเฝ้าระวังของกรมควบคุมโรค สถานการณ์โรคไข้หูดับในประเทศไทยตั้งแต่ 1 ม.ค. – 27 ม.ค. 65 มีรายงานผู้ป่วย 25 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต กลุ่มอายุที่พบผู้ป่วยสูงสุดคือคือ กลุ่มวัยทำงานและผู้สูงอายุ ได้แก่ อายุ 45-54 ปี รองลงมาคือ อายุมากกว่า 65 ปี และ อายุ 55-64 ปี อาชีพส่วนประกอบอาชีพ เกษตรกร ค้าขาย และรับจ้าง ภาคที่พบผู้ป่วยมากที่สุด คือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และจังหวัดที่พบผู้ป่วยมากที่สุด 5 อันดับ ได้แก่ นครราชสีมา เชียงใหม่ อุตรดิตถ์ พะเยา และอุทัยธานี โดยจำนวนผู้ป่วยดังกล่าว สูงว่าค่ามัธยฐาน 5 ปี (2560-2564) ของผู้ป่วยในช่วงเวลาเดียวกัน”
“การพยากรณ์โรคและภัยสุขภาพประจำสัปดาห์นี้ คาดว่าในช่วงนี้มีโอกาสจะพบผู้ป่วยโรคไข้หูดับเพิ่มขึ้น เนื่องจากปัจจัยแวดล้อมและวัฒนธรรมการรับประทานอาหาร โดยเฉพาะในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จึงขอเตือนให้ประชาชนระมัดระวังการประกอบอาหารและรับประทานอาหารที่ถูกสุขลักษณะ โรคไข้หูดับ เกิดจากเชื้อแบคทีเรียสเตร็พโตค็อคคัส ซูอิส (Streptococcus suis) โดยเชื้อนี้อยู่ในทางเดินหายใจของหมู และอยู่ในเลือดของหมูที่กำลังป่วย สามารถติดต่อสู่มนุษย์ผ่านทางบาดแผล รอยถลอก เยื่อบุตา และการรับประทานเนื้อหมูและเลือดหมูที่ปรุงสุกๆ ดิบๆ หรือการสัมผัสกับหมูที่ติดเชื้อ ทั้งเนื้อหมู เครื่องใน และเลือดหมู โดยจะเริ่มมีอาการหลังได้รับเชื้อภายในไม่กี่ชั่วโมง สำหรับอาการของโรคไข้หูดับ ผู้ที่ได้เชื้อจะมีไข้สูง ปวดศีรษะรุนแรง เวียนศีรษะจนทรงตัวไม่ได้ อาเจียน ถ่ายเหลว คอแข็ง ข้ออักเสบ เนื้อเยื่อใต้ผิวหนังติดเชื้อ ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะสูญเสียการได้ยินจนถึงขั้นหูหนวกถาวร หรือรุนแรงถึงขั้นติดเชื้อในกระแสเลือดจนเสียชีวิตได้ ซึ่งกลุ่มเสี่ยงที่เมื่อได้รับเชื้อแล้วจะมีอาการรุนแรง ได้แก่ ผู้ป่วยโรคพิษสุราเรื้อรัง ผู้มีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ไต มะเร็ง หัวใจ ผู้ที่เคยตัดม้ามออก เป็นต้น เนื่องจากร่างกายมีภูมิต้านทานโรคต่ำ กรมควบคุมโรค ขอแนะนำวิธีป้องกันโรคไข้หูดับ ดังนี้ 1.รับประทานหมูที่ปรุงสุกเท่านั้น และเลือกซื้อเนื้อหมูที่ไม่มีกลิ่นคาวหรือสีคล้ำ ล้างมือด้วยน้ำสบู่ทุกครั้งหลังสัมผัส ขณะประกอบอาหารให้แยกอุปกรณ์ที่ใช้หยิบเนื้อหมูสุกและดิบ 2.ผู้ที่เลี้ยงหมู ผู้ที่ทำงานในโรงฆ่าสัตว์ สัตวบาล สัตวแพทย์ ควรใส่เสื้อและกางเกงที่ปกปิดมิดชิด ใส่รองเท้าและถุงมือทุกครั้งเมื่อเข้าไปทำงานในคอกหมู หลีกเลี่ยงการจับซากหมูที่ตายด้วยมือเปล่า ล้างมือหลังสัมผัสกับหมู ซากหมูทุกครั้ง หากมีบาดแผลต้องปิดแผลให้มิดชิด เพื่อป้องกันเชื้อโรค 3.ผู้ที่จำหน่าย ควรรับเนื้อหมูมาจากโรงฆ่าสัตว์ที่ได้มาตรฐาน เก็บเนื้อหมูที่จะขายในอุณหภูมิที่ต่ำกว่า 10°C และทำความสะอาดแผงด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อทุกวันหลังเลิกขาย ทั้งนี้ หากมีอาการไข้สูง ปวดศีรษะอย่างรุนแรง เวียนศีรษะจนทรงตัวไม่ได้อาเจียน คอแข็ง หูหนวก ท้องเสีย ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ หลังสัมผัสหมูที่ป่วย หรือหลังรับประทานเนื้อหมูไม่สุก ให้รีบไปพบแพทย์ทันทีพร้อมแจ้งประวัติการรับประทานอาหารให้แพทย์ทราบ เพื่อรับการวินิจฉัยที่ถูกต้องและรวดเร็ว ซึ่งจะช่วยลดอัตราการหูหนวกและการเสียชีวิตได้ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรคโทร.1422”