จังหวัดเชียงใหม่เตรียมพร้อมรับมือกับปัญหาไฟป่าและหมอกควันที่คาดว่าจะมากขึ้นในช่วงเดือนมีนาคมนี้ พร้อมเน้นย้ำให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมความพร้อมในทุกด้านเพื่อการทำงานได้ที่ประสิทธิภาพมากที่สุด
เมื่อวันที่ 23 ก.พ. 65 ที่ห้องปฏิบัติการศูนย์บัญชาการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันจังหวัดเชียงใหม่ องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ นายประจญ ปรัชญ์สกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ มอบหมายให้ นายวรวิทย์ ชัยสวัสดิ์ เป็นประธานในการประชุมคณะกรรมการศูนย์บัญชาการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันจังหวัดเชียงใหม่ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและอำเภอทั้ง 25 อำเภอ ผ่านทางระบบออนไลน์ เพื่อติดตามสถานการณ์รวมถึงหาแนวทางในการป้องกันและแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น
โดยเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2565 ที่ผ่านมา เกิดจุดความร้อนทั้งหมด 11 จุด ได้แก่ จุดความร้อนในพื้นที่ป่า จำนวน 6 จุด พื้นที่ทางการเกษตร จำนวน 4 จุด และพื้นที่ชุมชนหรือพื้นที่อื่นๆ จำนวน 1 จุด รวมเกิดจุดความร้อนสะสมตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565 เป็นต้นมา ทั้งหมด 880 จุด ลดลงจากค่าเฉลี่ย 3 ปีย้อนหลัง กว่าร้อยละ 70.80
สำหรับเดือนมีนาคมที่จะถึงนี้ ซึ่งเป็นเดือนที่คาดว่าจะเกิดจุดความร้อนมากที่สุดในรอบปี ทางจังหวัดเชียงใหม่จึงได้เน้นย้ำให้หน่วยงานราชการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเตรียมความพร้อมในการรับมือสถานการณ์ไฟป่าและหมอกควันที่อาจจะรุนแรงมากขึ้น ทั้งในเรื่องของการจัดเจ้าหน้าที่อยู่ประจำห้องปฏิบัติการศูนย์บัญชาการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันจังหวัดเชียงใหม่ ตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมทั้งเพิ่มชุดปฏิบัติการพิเศษป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าหมอกควันของทุกอำเภอ โดยเน้นย้ำให้ศูนย์บัญชาการฯ ในระดับอำเภอ รายงานผลการปฏิบัติงานในพื้นที่ของแต่ละอำเภอให้ศูนย์บัญชาการฯ จังหวัดทราบในทุกวัน รวมถึงการตรวจสุขภาพของเจ้าหน้าที่และจิตอาสาที่ปฏิบัติงานดับไฟป่าทุกคนก่อนเริ่มปฏิบัติงานจริง และจะจัดทำประกันภัยให้กับเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานดับไฟป่า จำนวน 1,000 คน ในวงเงินประกันภัยจำนวน 100,000 บาท โดยจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม – 30 เมษายน 2565
ทั้งนี้ นายวรวิทย์ ชัยสวัสดิ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ยังได้เน้นย้ำให้ศูนย์บัญชาการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันในแต่ละอำเภอแยกประเภทของจุดความร้อนที่ตรวจพบว่า จุดความร้อนนั้น เกิดขึ้นในเขตพื้นที่ชนิดใด เพื่อความสะดวกให้ในการบริหารจัดการ และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในระดับอำเภอ ระดับตำบล และระดับหมู่บ้าน เข้าไปตรวจสอบ ดูแล และประชาสัมพันธ์ให้ความรู้กับคนในพื้นที่ให้มากที่สุด เพื่อจะสามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างตรงจุดและมีประสิทธิภาพมากขึ้น