ปภ. เชียงใหม่ เผยคุณภาพอากาศโดยรวมอยู่ในระดับ “ปานกลาง” ย้ำ 6 อำเภอที่เกิดไฟป่าเป็นจำนวนมากให้เพิ่มชุดลาดตระเวนป้องกันการเกิดไฟ พร้อมตั้งสินบนนำจับผู้ที่ลักลอบเผา คดีละ 5,000 บาท
เมื่อวันที่ 19 เม.ย. 65 ที่ห้องประชุม 4 อาคารอำนวยการ ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ นายอารุณ ปินตา หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยถึงสถานการณ์ไฟป่าหมอกควันในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ในการแถลงข่าวสื่อมวลชนประจำสัปดาห์ว่า จำนวนจุดความร้อนสะสมของจังหวัดเชียงใหม่ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 18 เมษายน 2565 เกิดจุดความร้อน (Hotspot) 2,367 จุด ลดลงจากค่าเฉลี่ย 3 ปี ย้อนหลัง ถึงร้อยละ 83.35 โดยพื้นที่ที่เกิดจุดความร้อนมากที่สุดคือพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ร้อยละ 55 รองลงมาเป็นพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ร้อยละ 36% นอกนั้นเป็นพื้นที่อื่นๆ ส่วนอำเภอที่เกิดจุดความร้อนสะสมสูงสุด 6 อันดับแรก ได้แก่ อำเภอแม่แจ่ม อำเภออมก๋อย อำเภอเชียงดาว อำเภอฮอด อำเภอสะเมิง และอำเภอดอยเต่า ตามลำดับ
ด้านค่าคุณภาพอากาศ ของจังหวัดเชียงใหม่ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 18 เมษายน 2565 ตรวจพบเกินมาตรฐาน 39 วัน โดยค่าสูงสุดตรวจพบเมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2565 ณ สถานีอำเภอแม่แจ่ม มีค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 สูงถึง 117 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร ทั้งนี้คุณภาพอากาศโดยรวมของจังหวัดเชียงใหม่อยู่ในระดับ “ปานกลาง” ซึ่งมีค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 อยู่ระหว่าง 11 – 65 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร ซึ่งอยู่ในเกณฑ์ “ดีมาก” ถึง “เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ” เนื่องจากมีฝนตกในพื้นที่ทำให้สภาพอากาศดีขึ้นตามลำดับ
ทั้งนี้คณะกรรมการแก้ไขปัญหาไฟป่าและฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 จังหวัดเชียงใหม่ ได้มีข้อสั่งการให้อำเภอที่เกิดไฟป่าจำนวนมาก เพิ่มชุดลาดตระเวน โดยสนธิกำลังเจ้าหน้าที่ร่วมกันจากทุกฝ่าย และให้เหยี่ยวไฟ หรือเสือไฟเป็นหลักในการเข้าปฏิบัติการดับไฟ และให้สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดเชียงใหม่ เป็นผู้ประสานงานกับป่าไม้และอุทยานในการปฏิบัติร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ
นอกจากนี้หากพบสถานการณ์คุณภาพอากาศเกินค่ามาตรฐานติดต่อกันเกิน 3 วัน จะดำเนินการประกาศงดการเผาโดยเด็ดขาดและหยุดการบริหารจัดการเชื้อเพลิงจนกว่าสถานการณ์คุณภาพอากาศจะดีขึ้น พร้อมทั้งมีการตั้งสินบนนำจับให้แก่ผู้ที่แจ้งเบาะแสของผู้ที่ลักลอบเผา คดีละ 5,000 บาท และให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ ร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกพื้นที่ จัดตั้งพื้นที่ปลอดฝุ่นละออง (Safety Zone) ให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ โดยใช้โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลทุกแห่ง และศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก เป็นพื้นที่ปลอดฝุ่นละออง เพื่อรองรับกลุ่มเปราะบางที่อาจได้รับผลกระทบจากฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 อีกด้วย
ข่าว : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงใหม่