พ่อแม่ “ช่างเปรียบเทียบ” มีผลเสียต่อลูกในอนาคตมากกว่าที่คิด…
ตอนเด็ก ๆ หากถามว่าเคยโดนพ่อแม่พูดเปรียบเทียบเรากับใครไหม แทบทุกคนจะตอบว่าเคยกันทั้งสิ้น แต่พ่อแม่หลายคนมักไม่ยอมรับว่าชอบเปรียบเทียบลูกกับลูกคนอื่น และอาจกลายเป็นความเคยชินโดยที่ไม่รู้ตัว ซึ่งผลเสียที่เกิดขึ้นกับเด็กส่งผลถึงความสุขในชีวิตเมื่อโตขึ้นได้ แล้วลูกควรรับมืออย่างไร เมื่อพ่อแม่ชอบเปรียบเทียบ
ทำไมพ่อแม่ชอบเปรียบเทียบ? การที่พ่อแม่ติดเปรียบเทียบอาจเป็นจากประสบการณ์ในอดีต เช่น ถูกเลี้ยงดูมาแบบที่โดนเปรียบเทียบในตอนเด็ก หรือต้องการเติมเต็มความฝันของตนเองที่ไม่สำเร็จในอดีต รวมถึงอาจเป็นวิธีทดแทนเนื่องจากพ่อแม่ไม่เห็นคุณค่าในตนเอง ซึ่งทั้งหมดล้วนเป็นสิ่งที่กลับไปแก้ไขไม่ได้ และไม่ควรทำให้โลกของลูกเต็มไปด้วยความรู้สึกที่ว่าตัวเองด้อยค่า
ผลเสียของการเปรียบเทียบ
ขาดความสุข เมื่อเด็กโดนเปรียบเทียบ พอโตขึ้นจะหาความสุขได้ยากกว่าเด็กที่ไม่ต้องเทียบกับใคร ลักษณะที่แสดงออกมาชัดเจนคือ บุคลิกภาพแบบแข่งขันสูง เช่น สอบต้องได้ลำดับที่ต้นๆ สถาบันต้องชั้นนำ จบต้องเกียรตินิยม ทำงานเงินเดือนต้องเยอะ ตำแหน่งสูง โทรศัพท์รุ่นใหม่ รถแพง บ้านสวย เมื่อมีครอบครัวลูกต้องดีต้องเด่นเหมือนตนเอง จะมีความสุขต่อเมื่อคนรับรองว่า ดี (กว่า) เยี่ยม (กว่า)
เห็นคุณค่าในตัวเองน้อยลง เพราะเมื่อเปรียบเทียบกับคนอื่นแล้วทำได้ไม่ดีเท่าจะส่งผลต่อ การเห็นคุณค่าในตนเอง (Self-esteem) เมื่อเห็นคุณค่าในตัวเองน้อยลงเรื่อยๆ จะมีปัญหาต่างๆ ตามมา เช่น พฤติกรรมก้าวร้าว ขาดความรับผิดชอบ ขาดการควบคุมตนเอง ขาดการรอคอย โรคซึมเศร้า โรควิตกกังวล ต่อต้านสังคม อารมณ์รุนแรง มีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร พึ่งพายาเสพติดฯลฯ
ลูกจะรับมืออย่างไรดี?
หากพ่อแม่เคยชินกับการเปรียบเทียบ ลูกต้องยอมรับว่า ความเคยชินเปลี่ยนกันยาก พ่อแม่คงมีประสบการณ์ในอดีตบางอย่างที่ทำให้มีลักษณะนี้ เพราะฉะนั้นสิ่งที่ทำได้คือ หากท่านคิดแบบนั้นแล้วสบายใจในฐานะลูกควรยอมรับว่าความสบายใจของพ่อแม่คือสิ่งสำคัญ แต่ตัวลูกเองต้องหัดชื่นชมตัวเอง ตั้งใจทำหน้าที่ของตัวเอง แล้วปล่อยวางกับผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นเมื่อได้ทำเต็มที่แล้ว
พ่อแม่ควรยอมรับความจริง ไม่มีพ่อแม่คนไหนยอมรับว่าชอบเปรียบเทียบลูกกับคนอื่น แต่ถ้าหากได้รู้ผลเสียจากการเปรียบเทียบบ่อยๆ ควรกลับมาสำรวจตนเอง ควรชื่นชมลูกที่ได้พยายามแล้ว ไม่ควรพูดถึงลำดับ ไม่ถามถึงลูกคนอื่นว่าได้ที่เท่าไร เพื่อที่ลูกจะได้เห็นคุณค่าในตนเอง ไม่ต้องไปเปรียบเทียบกับใคร
ที่มา : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
พรสวรรค์ ชาติมนตรี (นักศึกษาฝึกประสบการณ์)