นายจ้างรับไม่ไหว ขอขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 492 บาท หากขึ้นพังทั้งระบบแน่ แนะปรับขึ้นเฉพาะกลุ่ม
เมื่อวันที่ 26 เม.ย. 65 นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์กรนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย (ECONTHAI) กล่าวถึงกรณีคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย มีข้อเสนอขอปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 492 บาททั่วประเทศ โดยระบุว่า การกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการไตรภาคีที่จะพิจารณาร่วมกัน โดยต้องพิจารณาจากภาวะเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อ และความสามารถในการจ่ายค่าจ้างของนายจ้าง
สำหรับข้อเสนอดังกล่าว ยังไม่ชัดเจนว่าตัวเลข 492 บาท มีที่มาอย่างไร เนื่องจากที่ผ่านมา อัตราค่าจ้างขั้นต่ำของไทยมีอยู่ 8 ระดับตามพื้นที่ ซึ่งหากยึดค่าจ้างขั้นต่ำใน กทม.ที่อัตรา 331 บาทต่อวัน มาคำนวณ จะเท่ากับ มีการปรับค่าจ้างขึ้นไปถึงวันละ 161 บาท หรือขึ้นถึง 48.6% ซึ่งเป็นอัตราที่นายจ้างรับไม่ไหว
นายธนิต กล่าวว่า เห็นใจแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้น แต่สาเหตุของเงินเฟ้อครั้งนี้มาจากเหตุสงครามรัสเซีย-ยูเครน ไม่ได้มาจากภาวะเศรษฐกิจดีขึ้น และผู้ประกอบการไม่สามารถสะท้อนต้นทุนที่สูงขึ้นไปยังราคาสินค้าได้เหมือนภาวะเงินเฟ้อปกติ
“สถานการณ์เศรษฐกิจในประเทศขณะนี้ก็ยังไม่ค่อยดี ไม่ใช่เวลาที่จะปรับขึ้นค่าจ้าง ขณะเดียวกันยอมรับว่า มีความกังวลว่า เรื่องค่าจ้างขั้นต่ำ จะถูกนำไปเป็นประเด็นทางการเมือง เพื่อสนองนโยบายประชานิยม จนมีการแทรกแซงไปยังคณะกรรมการไตรภาคี ให้ปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเพื่อหวังผลทางการเมือง”
รองประธานสภาองค์กรนายจ้าง เสนอว่า หากรัฐบาลต้องการดูแลแรงงาน สามารถเลือกให้ความช่วยเหลือแรงงานเฉพาะกลุ่มที่ได้รับความเดือดร้อน ในระยะสั้น 3 เดือน หรือ หากจะมีการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ ก็ควรนำอัตราเงินเฟ้อมาประกอบการพิจารณา ซึ่งหลายสำนักประเมินว่าอัตราเงินเฟ้อปีนี้จะเคลื่อนไหวเฉลี่ยที่ 5% ก็ไม่ควรขึ้นค่าจ้างเกิน 5% จากอัตราในปัจจุบัน ซึ่งหากคำนวณโดยอัตราค่าจ้างใน กทม. ก็จะเท่ากับปรับขึ้นมาอีก วันละ 16.50 บาท หรือเดือนละไม่เกิน 500 บาท ก็น่าจะอยู่ในระดับที่ช่วยเหลือกันได้