กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เผยกลุ่มวัยทำงานมีภาวะอ้วน ร้อยละ 37.5 พบเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรังร้อยละ 24.7 แนะดูแลสุขภาพตามหลัก 3อ 2ส 1ฟ 1น เพื่อลดความเสี่ยงโรค
นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า วัยทำงานส่วนใหญ่ใช้เวลาในที่ทำงานไม่น้อยกว่า 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ หากไม่มีการดูแลสุขภาพของตนเองที่เหมาะสมจะส่งผลให้เกิดความเสี่ยงด้านสุขภาพ ซึ่งจากการสำรวจประชาชนไทย โดยสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข พบว่าคนวัยทำงานที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป มีดัชนีมวลกาย (BMI) อยู่ในเกณฑ์ปกติเพียง ร้อยละ 36.43 มีภาวะอ้วน ร้อยละ 37.5 พบโรคความดันโลหิตสูงร้อยละ 24.7 โรคเบาหวาน ร้อยละ 8.9 ภาวะไขมันในเลือดสูง ร้อยละ 16.4 และจากการสำรวจระดับกิจกรรมทางกายในประชากรไทย โดยศูนย์พัฒนาองค์ความรู้ด้านกิจกรรมทางกายประเทศไทย ในปี 2563 พบว่า ประชาชนวัยทำงาน อายุ 18-59 ปี มีกิจกรรมทางกายเพียงพอลดลงเหลือร้อยละ 54.7 จากปี 2562 ที่มีกิจกรรมทางกายเพียงพอ ร้อยละ 74.6 และข้อมูลจากการสำรวจด้านโภชนาการ ปี 2564 พบว่า คนไทยอายุ 18-59 ปี เป็นคนอ้วนระดับ 1 คือมีค่า BMI 25-29.9 ร้อยละ 20.31 และอ้วนระดับ 2 คือมีค่า BMI มากกว่าหรือเท่ากับ 30 ร้อยละ 6.22 ผู้ที่เป็นโรคอ้วนจึงมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรังและเสี่ยงเสียชีวิตเมื่อป่วยเป็นโรคโควิด-19
“ทั้งนี้กลุ่มวัยทำงานที่เข้าข่ายอ้วนลงพุง สามารถดูแลสุขภาพตนเองตามหลัก 3อ 2ส 1ฟ 1น ดังนี้ 3อ เริ่มจาก อ ที่ 1 กินอาหารให้ตรงเวลามีความหลากหลายครบ 5 หมู่ ในสัดส่วน 2:1:1 คือ ผักหลากสี 2 ส่วน เนื้อสัตว์ไขมันต่ำ 1 ส่วน ข้าว แป้ง 1 ส่วน ลดการกินอาหารประเภท หวาน มัน เค็ม ชา กาแฟ ขนมเบเกอรี่ ควรดื่มน้ำเปล่าอย่างน้อย 8 แก้ว หรือ 2 ลิตรต่อวัน อ ที่ 2 ออกกำลังกายวันละ 30 นาที สัปดาห์ละ 5 วันเช่น การเต้นแอโรบิก การออกกำลังกายแบบคาดิโอ กระโดดเชือก การย่ำเท้าอยู่กับที่ การเดินวันละ 10,000 ก้าว เป็นต้น อ ที่ 3 หากิจกรรมที่ทำให้ผ่อนคลายจากความเครียด เช่น สวดมนต์ นั่งสมาธิ สำหรับ 2ส คือ ส ที่ 1ไม่สูบบุหรี่ ส ที่ 2 ไม่ดื่มเหล้า 1ฟ คือ การดูแลรักษาฟันสูตร 222 แปรงฟันอย่างน้อย 2 ครั้ง นานครั้งละ 2 นาที ไม่กินหรือไม่ดื่มหลังแปรงฟัน 2 ชั่วโมง และ 1น คือ นอนหลับ 7-9 ชั่วโมงต่อวัน เพื่อให้มีสุขภาพแข็งแรง เป็นเกราะป้องกันโควิด-19”อธิบดีกรมอนามัย กล่าว…
ที่มา : กรมอนามัย
พรสวรรค์ ชาติมนตรี(นักศึกษาฝึกประสบการณ์)