ถึงแม้ว่าการนั่งให้ถูกท่าจะเป็นท่าที่สบาย แต่ถ้านั่งนานเกินไปก็อาจจะทำให้เกิดโรคได้ เพื่อน ๆ หลายคนที่ต้องนั่งทำงานหน้าคอมแบบไม่ลุกไปไหนเพราะติดพัน หรือการนั่งขับรถนาน ๆ การนั่งบนรถไฟฟ้า รถทัวร์ หรืออื่น ๆ ก็อาจจะทำให้รู้สึกปวดคอบ่าไหล่ และมีอาการออฟฟิศซินโดรมถามหาได้ นอกจากอาการของออฟฟิศซินโดรมที่เกิดจากการนั่งนาน ๆ แล้ว การนั่งนานเกินไปโดยไม่ได้ลุกไปไหน ก็เพิ่มความเสี่ยงในโรคภัยอื่น ๆ อีกด้วย มาดู 10 อาการ ที่เกิดจากการนั่งนานกันค่ะ ว่ามีอะไรบ้าง….
1.โรคสมองเสื่อม
เพื่อน ๆ หลายคน อาจจะงงว่าเกี่ยวกันอย่างไรใช่ไหมคะ กับการนั่งนาน ๆ ส่งผลทำให้สมองเสื่อมด้วยหรอ แต่ขอบอกว่าส่งผลได้จริง ๆ ค่ะ เพราะร่างกายของเราจะเข้าสู่โหมดการเซฟพลังงาน สมองจะทำงานช้าลงถ้าร่างกายอยู่นิ่ง ๆ นานเกินไป เมื่อสมองเข้าสู่เซฟโหมดแล้ว เลือดและออกซิเจนที่จะส่งไปยังสมองก็จะมีน้อยลง ซึ่งสมองอาศัยเลือดและออกซิเจนในการหล่อเลี้ยง และกระตุ้นการปล่อยสารเคมีในสมอง ทำให้รู้สึกสดชื่นแจ่มใส แต่ถ้านั่งนานเกินไปและสมองเข้าสู่เซฟโหมดบ่อย ๆ ก็จะทำให้เลือดและออกซิเจนไปเลี้ยงสมองไม่พอ เป็นการเพิ่มความเสี่ยงที่ทำให้สมองเสื่อมไวขึ้นนั่นเองค่ะ
2.โรคซึมเศร้า
การนั่งนาน ๆ นอกจากจะทำให้เลือดและออกซิเจนไปเลี้ยงสมองได้น้อยลง ก็ยังส่งผลต่อฮอร์โมนในร่างกายอีกด้วย เพราะเลือดและออกซิเจน จะทำให้สมองหลั่งฮอร์โมนได้อย่างเป็นปกติ แต่ถ้าหากนั่งนาน ๆ จะทำให้สมองเข้าสู่เซฟโหมดและส่งผลต่ออารมณ์ได้ นอกจากนี้การนั่งนาน ๆ หน้าจอคอมพิวเตอร์ แสงจากจอหน้าคอมจะทำให้รบกวนการนอนหลับที่ดี เมื่อนอนหลับได้ไม่มีประสิทธิภาพ ร่างกายก็จะรวน ฮอร์โมนในร่างกายหลั่งได้ไม่เป็นปกติ เกิดอาการซึมเศร้าได้ง่ายกว่าเดิม และการทำงานหน้าคอมจนไม่แบ่งเวลาส่วนตัว ไม่มีเวลาไปพบเพื่อนหรือครอบครัว ไม่มีปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้าง ก็สามารถเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคซึมเศร้าได้ง่ายขึ้นไปอีก
3.ปวดคอและปวดหลัง
ชาวออฟฟิศซินโดรมมักจะเกิดอาการปวดหลังและคอบ่อย ๆ เหมือนเป็นโรคประจำตัว เพราะการนั่งทำงานหน้าจอคอมพิวเตอร์ ต้องพยายามตั้งคอให้ตรง นั่งในท่าที่ถูกต้องที่สุด แต่เวลาจริงจังกับงานมาก ๆ ก็มักจะลืมตัว นั่งในท่าที่รู้สึกว่าตัวเองสบายแต่ไม่ถูกกิจลักษณะ ทำให้ปวดหลังและปวดคอมากกว่าเดิมและทำให้เกิดความล้าที่กล้ามเนื้อได้ นอกจากนี้ การนั่งนาน ๆ ยังทำให้เกิดแรงกดที่หมอนรองกระดูกสันหลัง ทำให้ความยืดหยุ่นบริเวณกระดูกสันหลังหายไป และเพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะการปลิ้นของหมอนรองกระดูกได้อีกด้วย ดังนั้นควรนั่งเก้าอี้ที่เหมาะกับสรีระ แต่ถ้าเป็นการเดินทางนาน ๆ ก็หาโอกาสลุกเดิน เพื่อเปลี่ยนอิริยาบถบ้าง
4.โรคอ้วน
การนั่งนาน ๆ ส่งผลต่อระบบเมตาบอลิซึมในร่างกาย เพราะร่างกายเข้าสู่เซฟโหมด และเผาผลาญน้อยลง เมื่อการเผาผลาญพลังงานน้อยลงแล้ว ก็จะเพิ่มโอกาสเสี่ยงที่จะเป็นโรคอ้วนมากกว่าเดิม ยิ่งถ้าหากเป็นคนชอบกินจุบจิบเวลาทำงาน หยิบของใกล้ตัวเข้าปากแก้เครียด แก้เซ็ง แก้เบื่อ ก็จะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงมากขึ้น ถึงแม้ว่าจะออกกำลังกายบ่อย ๆ ก็ตาม เพราะถึงจะออกกำลังกาย แต่ถ้านั่งจุมปุ๊กอยู่หน้าคอมนาน ๆ เกินกว่า 7 ชั่วโมงต่อวัน ก็อาจจะทำให้การออกกำลังกายที่ทนเหนื่อยมาไม่มีประโยชน์ได้
5.โรคเบาหวาน
การนั่งนาน ๆ ส่งผลต่อการตอบสนองต่ออินซูลินในเลือด เพราะการนั่งนาน ๆ ส่งผลต่อการทำงานของตับ และทำให้ตับอ่อนผลิตอินซูลินออกมามากเกินความจำเป็น และทำให้เพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวานได้ง่ายขึ้น ในการวิจัยเกี่ยวกับโรคเบาหวาน พบว่า คนที่นั่งนาน ๆ มีแนวโน้มที่จะเป็นโรคเบาหวานเพิ่มขึ้น 2 เท่า เมื่อเทียบกับคนที่นั่งน้อยกว่า 6 ชั่วโมงต่อวัน และการนั่งนาน ๆ ไม่ขยับเกินกว่า 8 ชั่วโมงต่อวัน ช่วยเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคเบาหวานประเภทที่ 2 ถึง 90%
6.โรคหัวใจ
การเปรียบเทียบระหว่างคนขับรถที่นั่งนาน ๆ กว่า 8 ชั่วโมงต่อวัน และคนที่ทำงานในอาชีพอื่น ๆ พบว่า การนั่งนาน ๆ เพิ่มความเสี่ยงต่อโรคหัวใจได้ถึง 2 เท่า แม้ว่าวิถีชีวิตและอาหารการกินจะใกล้เคียงกันมากขนาดไหนก็ตาม และการนั่งนาน ๆ จะทำให้เลือดไหลเวียนไม่สะดวก ระบบการเผาผลาญน้อยลง และเพิ่มความเสี่ยงที่ทำให้กรดไขมันที่เผาผลาญไม่หมด เข้าไปเกาะกับผนังเลือดบริเวณหัวใจได้ง่ายขึ้นอีกด้วย
7.โรคมะเร็งลำไส้ มะเร็งปอด มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก
นอกจากการนั่งนาน ๆ จะทำให้ร่างกายเข้าสู่เซฟโหมดแล้ว ก็ยังทำให้เลือดไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ได้น้อยกว่าเดิม และการนั่งนานทำให้ส่งผลต่ออินซูลิน และทำให้กระตุ้นการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งได้ นอกจากนี้การนั่งนานทำให้เกิดสารอนุมูลอิสระขึ้น ทำให้เซลล์ต่าง ๆ ในร่างกายเสื่อมได้ไวขึ้น และสารต้านอนุมูลอิสระ เป็นสารสำคัญในร่างกายที่ช่วยในการขจัดเซลล์มะเร็ง การนั่งนานเกินไป จะเพิ่มความเสี่ยงต่อมะเร็งลำไส้ใหญ่ เพิ่มขึ้น 30%, มะเร็งปอด เพิ่มขึ้น 54%, และมะเร็งมดลูก เพิ่มขึ้นถึง 66%
8.โรคลิ่มเลือดอุดตัน
การนั่งนานไม่ขยับไปไหน และกินน้ำน้อย เพิ่มความเสี่ยงต่อโรคเส้นเลือดดำอุดตัน ที่อาจจะทำให้อันตรายถึงชีวิตได้หากลิ่มเลือดหลุดเข้าไปในบริเวณปอด เพราะการนั่งนาน ๆ ทำให้การไหลเวียนเลือดไม่ดี นอกจากนี้ยังทำให้เกิดเส้นเลือดขอดสะสมบริเวณขา เวลาใส่กางเกงหรือกระโปรงขาสั้นทำให้รู้สึกไม่มั่นใจ แล้วยังส่งผลต่อสุขภาพ ทำให้ปวดและรู้สึกรำคาญใจอีกด้วย
9.โรคกระดูกพรุน
คนที่อายุเริ่มมากขึ้น และคนที่นั่งนาน ๆ ไม่ขยับไปไหนเลย กล้ามเนื้อและกระดูกข้อต่อบริเวณขาจะไม่ค่อยได้ใช้งาน ทำให้กระดูกเริ่มบางลง และเพิ่มความเสี่ยงที่จะเป็นโรคกระดูกพรุนได้มากขึ้น อาจจะส่งผลต่อชีวิตประจำวันได้ ควรเพิ่มกิจกรรมที่มีการขยับร่างกายเข้าไปในชีวิตประจำวันบ้าง เช่น การเดินหรือวิ่ง จะช่วยให้เนื้อกระดูกหนาแน่นขึ้น เพราะกระดูกได้รับการกระตุ้น ทำให้ลดความเสี่ยงต่อภาวะกระดูกบางและโรคกระดูกพรุนได้
10.ย่อยอาหารได้ไม่ดี
เราอาจจะโดนสอนมาว่าให้นั่งพักซักนิดหลังจากกินอาหาร แต่การนั่งแช่นานเกินไปหลังจากกินเสร็จ จะทำให้อวัยวะในช่องท้องเคลื่อนไหวลดลง ทำให้ประสิทธิภาพในการย่อยอาหารลดลงด้วย บางคนอาจจะมีอาการของตะคริว ท้องอืด ท้องเฟ้อและท้องผูก จากอาการนั่งรถนาน ๆ หรือทำให้ลำไส้แปรปรวน ถ่ายไม่ค่อยออกเพราะการเดินทางไกลอยู่บ่อย ๆ เพราะการนั่งนาน ๆ ส่งผลต่อจุลินทรีย์ที่อยู่ในลำไส้ และส่งผลต่อระบบย่อยอาหาร ทำให้ย่อยอาหารได้ไม่ดีเท่าที่ควร
.
.
.
ถ้าอยากลดความเสี่ยงที่จะเกิดอาการเหล่านี้ ก็ควรหาเวลาในการขยับร่างกายเพื่อเปลี่ยนอิริยาบถบ้าง ไม่ควรนั่งในท่าเดิมนานเกินไปกว่า 2 ชั่วโมง หากิจกรรมที่ทำให้ได้ขยับร่างกายบ่อย ๆ อย่างการเดินยืดเส้นยืดสายซักเล็กน้อย หรือยืนบ้าง เพื่อให้เลือดไหลเวียนได้สะดวก และทำให้ร่างกายของเราไม่เข้าสู่เซฟโหมดบ่อย ๆ เพียงเท่านี้ก็จะช่วยลดความเสี่ยงลงได้
ที่มา : สสส
พรสวรรค์ ชาติมนตรี (นักศึกษาฝึกประสบการณ์)