#ANAMAINEWS กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เตือน นมข้นหวานเป็นผลิตภัณฑ์นมที่ห้ามไม่ให้นำไปเลี้ยงทารกโดยเด็ดขาด เนื่องจากมีปริมาณน้ำตาลสูงมาก และมีสารอาหารไม่เพียงพอกับการเจริญเติบโตของทารก หากนำมาใช้เลี้ยงทารก จะทำให้เสี่ยงต่อภาวะขาดโปรตีน พลังงาน และสารอาหาร ส่งผลให้มีภูมิคุ้มกันต่ำ ติดเชื้อง่าย และอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ พร้อมย้ำทารกแรกเกิดถึง 6 เดือน ควรเลี้ยงด้วยนมแม่อย่างเดียวนานอย่างน้อย 6 เดือน ดีที่สุด
เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2565 นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า จากกรณีโลกออนไลน์แชร์ข้อมูล ผู้ใช้ TikTok รายหนึ่ง โพสต์คลิปผสมนมข้นหวานกับน้ำเปล่าให้ลูกกิน เนื่องจากไม่มีเงินซื้อนมนั้น ซึ่งตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลกแนะนำว่า ทารกแรกเกิดจนถึงอายุ 6 เดือนควรได้กินนมแม่อย่างเดียวและหลังจากนั้นกินนมแม่ควบคู่กับอาหารตามวัยจนถึง 2 ปีหรือนานกว่านั้น เนื่องจากนมแม่เป็นอาหารที่มีคุณค่าที่สุดสำหรับทารก มีสารอาหารกว่า 200 ชนิด ที่มีประโยชน์ต่อการเจริญเติบโตทางกาย พัฒนาสมอง จอประสาทตา รวมทั้งเป็นอาหารที่ย่อยง่าย และถูกสร้างมาให้เหมาะสมที่สุดกับสภาพร่างกายของทารกในแต่ละช่วงอายุ ช่วยให้เด็กมีสุขภาพแข็งแรง ส่งเสริมเรื่องสติปัญญา อารมณ์ และยังช่วยประหยัดค่าใช้จ่าย เน้นย้ำ นมข้นหวานไม่เหมาะสำหรับการเป็นอาหารเด็ก เนื่องจากนมข้นหวานมีส่วนประกอบหลักแค่ไขมัน น้ำตาล โซเดียม ซึ่งต่างจากนมแม่ และนมผงดัดแปลงสำหรับเด็ก ซึ่งเป็นนมสำหรับเลี้ยงเด็กโดยเฉพาะ จึงห้ามนำมาใช้เลี้ยงทารก หรือห้ามใช้เพื่อเสริมคุณค่าทางอาหารแทนนมแม่ หรือนมผงสำหรับทารก อาจทำให้ทารกและเด็กเล็ก เสี่ยงต่อภาวะขาดโปรตีน พลังงาน และสารอาหาร ส่งผลให้มีภูมิคุ้มกันต่ำ ติดเชื้อง่าย และอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ ดังนั้น เด็กทารกแรกเกิดถึง 6 เดือน ควรกินนมแม่อย่างเดียว โดยไม่ต้องให้น้ำหรืออาหารอื่น หลังจากนั้นกินนมแม่ควบคู่กับการเริ่มอาหารตามวัย หากเด็กอายุเกิน 1 ปี สามารถกินนมกล่อง UHT หรือ พาสเจอร์ไรซ์ ซึ่งมีราคาย่อมเยากว่าได้
“ทั้งนี้ การส่งเสริมเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ และให้อาหารตามวัยแก่ทารกและเด็กอย่างเหมาะสมนั้น สามารถปฏิบัติได้ ดังนี้ 1) ให้นมแม่อย่างเดียวตั้งแต่แรกเกิดถึง 6 เดือน ไม่ต้องให้อาหารอื่นแม้แต่น้ำ 2) เริ่มให้อาหารตามวัยที่มีสารอาหารครบ 5 หมู่ทุกวัน ตามวัยหลังอายุ 6 เดือน ควบคู่กับนมแม่ 3) เพิ่มจำนวนมื้ออาหารตามวัยเมื่ออายุลูกเพิ่มขึ้น จนครบ 3 มื้อ เมื่ออายุ 10-12 เดือน 4) ค่อย ๆ เพิ่มปริมาณ และความหยาบของอาหารขึ้นตามอายุ 5) ให้อาหารรสธรรมชาติ หลีกเลี่ยงการปรุงแต่งรส 6) ให้อาหารสะอาดและปลอดภัย 7) ให้ดื่มน้ำสะอาด หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มรสหวาน และน้ำอัดลม 8) ฝึกวิธีดื่มกินให้สอดคล้องกับพัฒนาการตามวัยและ 9) เล่นกับลูกสร้างความผูกพัน หมั่นติดตามการเจริญเติบโตและพัฒนาการ” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว…
ที่มา : กรมอนามัย
พรสวรรค์ ชาติมนตรี (นักศึกษาฝึกประสบการณ์)