9 โรคร้ายยอดฮิตที่มาในช่วงฤดูฝนแบบไม่รู้ตัว ต้องระวัง !

107

         ช่วงนี้ประเทศไทยฝนตกแทบจะทุกวันเข้าสู่ฤดูฝนแล้ว สภาพอากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย อาจทำให้เราเจ็บป่วยได้ง่ายในฤดูฝน อากาศเริ่มเย็นลงและมีความชื้นสูงขึ้น เป็นสาเหตุให้โรคหลายชนิดสามารถแพร่ระบาดได้ง่ายและรวดเร็ว  ที่เราควรระวังเพื่อที่จะได้เตรียมรับมือกับโรคร้ายในช่วงฤดูฝน ซึ่งมีโรคอะไรบ้างไปดูกันนน !!

.

.

f0de95573b2cfa26b4620962140f0ebc.jpg

1.ไข้หวัดใหญ่

       เกิดจากการติดเชื้อไวรัสอินฟลูเอนซา (Influenza Virus) หรือไวรัสไข้หวัดใหญ่ พบบ่อยในช่วงฤดูฝนและฤดูหนาว เชื้อไวรัสสามารถแพร่ระบาดได้ทั่วโลก โดยแต่ละปีทั่วโลกจะมีผู้ติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ประมาณร้อยละ 15 ของประชากรทั้งหมด พบได้ในทุกช่วงอายุ ในเด็กเล็กจะติดเชื้อได้ง่าย ส่วนผู้สูงอายุเมื่อติดเชื้อจะมีอาการรุนแรงกว่า ความรุนแรงโรคอาจมีแค่อาการไข้สูง ไอ ปวดตามร่างกาย หรือรุนแรง มีอาการปอดอักเสบ การรักษาใช้การรักษาประคับประคองอาการหรือยาต้านไวรัสในรายที่รุนแรง ปัจจุบันมีวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ซึ่งได้ผลดีมากในการช่วยลดความรุนแรงของโรค

วิธีรักษา

  • ปิด ปิดปาก จมูก เมื่อป่วย ไอ จาม
  • ล้าง ล้างมือบ่อยๆ โดยเฉพาะหลังจากไอ จาม สั่งน้ำมูก หลังการดูแลผู้ป่วย และก่อนรับประทานอาหาร
  • เลี่ยง การอยู่ใกล้ชิดผู้ป่วยที่มีอาการไอ จาม และการอยู่ร่วมกันในสถานที่แออัด
  • หยุด หยุดงาน หยุดเรียน หยุดกิจกรรมกับผู้อื่นเมื่อป่วย เพื่อให้หายเร็วและไม่แพร่เชื้อให้คนอื่น ให้ ให้วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ในกลุ่มผู้ที่เสี่ยงป่วย ตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข

.

2.ไข้หวัดธรรมดา

       เกิดจากการติดเชื้อไวรัสซึ่งมีหลายสายพันธุ์ พบบ่อยในช่วงฤดูฝนและฤดูหนาว หรือโดยเฉพาะช่วงที่มีอากาศเปลี่ยนแปลง สามารถพบผู้ติดเชื้อได้ทุกช่วงอายุ ในเด็กเล็กสามารถเป็นได้หลายครั้งในแต่ละปี ในผู้ใหญ่จะเป็นน้อยลงตามลำดับเนื่องจากมีภูมิคุ้มกันมากขึ้น โดยเฉลี่ยเด็กจะเป็นโรคหวัด 6 – 12 ครั้งต่อปี ผู้ใหญ่จะเป็น 2 – 4 ครั้งต่อปี ความรุนแรงของโรคไม่มาก และสามารถหายเองได้ภายในไม่กี่วัน โดยจะมีอาการ เมื่อน้ำมูกหรือเสมหะเหลืองเขียว ปวดหู หูอื้อ ปวดศีรษะมาก ไข้สูง เป็นต้น

วิธีรักษา

  • เนื่องจากเกิดจากการติดเชื้อไวรัส ส่วนใหญ่จึงใช้วิธีการรักษาตามอาการ เช่น ยาลดน้ำมูก ยาลดไข้ จนอาการหายดีเอง การใช้ยาฆ่าเชื้อโดยไม่จำเป็นจะทำให้เชื้อแบคทีเรียเกิดการดื้อยาได้
  • พักผ่อนให้เพียงพอ
  • ดื่มน้ำมาก ๆ (ควรเป็นน้ำอุ่น)
  • รักษาร่างกายให้อบอุ่น
  • รับประทานอาหารอุ่น
  • หลีกเลี่ยงการจามหรือสั่งน้ำมูกอย่างรุนแรง เพราะจะทำให้น้ำมูกที่มีเชื้อโรคเข้าไปในไซนัสเกิดการอักเสบติดเชื้อได้
  • เวลาไอหรือจามให้ใช้ผ้าเช็ดหน้าปิดปากและจมูก

.

3.โรคต่อมทอนซิลอักเสบ

          เกิดการติดเชื้ออาจทำให้เกิดการอักเสบ ไม่ว่าจะเป็นเชื้อไวรัสหรือเชื้อแบคทีเรีย ส่งผลให้ต่อมทอนซิลบวมแดง มีจุดสีขาวหรือสีเหลืองบนต่อมทอนซิล เจ็บคอ กลืนลำบาก มีไข้ หรือต่อมน้ำเหลืองบริเวณคอโตขึ้น

วิธีรักษา

  • หลังจากแพทย์วินิจฉัยอาการ และสั่งยาปฏิชีวนะที่มีประสิทธิภาพในการกำจัดเชื้อเบตา สเตรปโตค็อกคัส กลุ่มเอ เช่น เพนิซิลิน อีริโทรมัยซิน คลาริโทรไมซิน ให้แล้ว ข้อสำคัญ คือ ผู้ป่วยจะต้องรับประทานยาต่อเนื่อง 7 – 10 วันจนครบ แม้อาการจะทุเลาแล้วก็ตาม เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดไข้รูมาติก หรือไตอักเสบแทรกซ้อน
  • เช็ดตัว ร่วมกับการให้ยาลดไข้เมื่อมีไข้สูง
  • พักผ่อนให้เพียงพอ ดื่มน้ำมาก ๆ
  • รับประทานอาหารรสอ่อน ๆ และดื่มน้ำหวานบ่อย ๆ เนื่องจากเด็กจะเจ็บคอมากทำให้รับประทานได้น้อย
  • กลั้วคอทำความสะอาดด้วยน้ำเกลือ วันละ 2 – 3 ครั้ง

.

4.โรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน

           เนื่องจากในช่วงฤดูฝนมีความชื้นในอากาศมากเชื้อโรคเจริญเติบโตและแพร่เชื้อได้ดีทำให้อาหารสุกๆ ดิบๆ หรืออาหารที่มีแมลงวันตอมและน้ำดื่มที่มีโอกาสปนเปื้อนเชื้อโรคเพิ่มขึ้นทำให้เกิดโรคของระบบทางเดินอาหารได้ง่าย โดยเฉพาะโรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน เกิดได้ทั้งจากเชื้อแบคทีเรียและเชื้อไวรัสอาการของโรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน คือ จะถ่ายอุจจาระเหลวกว่าปกติเกิน 3 ครั้งต่อวันหรือถ่ายเป็นน้ำ 1 ครั้งต่อวัน หรือถ่ายมีมูกปนเลือด 1 ครั้งต่อวันอาจมีไข้ ปวดท้อง คลื่นไส้อาเจียน

วิธีรักษา

  • ล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่และน้ำสะอาดทุกครั้งก่อนปรุงหรือรับประทานอาหารและภายหลังการเข้าสุขา
  • ดื่มน้ำสะอาด เช่น น้ำต้มสุก น้ำบรรจุขวดถูกสุขลักษณะ 
  • เลือกรับประทานอาหารที่สะอาดสุกใหม่ๆ การบริโภคผักผลไม้สด ควรทำความสะอาดด้วยน้ำสะอาดหลายๆ ครั้ง 
  • กําจัดสิ่งปฏิกูล ขยะมูลฝอยเพื่อไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของแมลงวัน
  • ไม่ควรรับประทานอาหารที่สุกๆ ดิบๆ เพื่อให้ห่างไกลจากโรคอุจจาระร่วงเฉียบพลันได้

.

5.โรคเยื่อบุตาอักเสบ หรือ โรคตาแดง

          เกิดได้จากเชื้อไวรัส ชนิดที่พบมากที่สุดคือ อะดีโนไวรัส (Adenovirus) รองลงมาคือ เฮอร์ปีส์ ไวรัส (Herpesvirus) เอนเทอโรไวรัส (Enterovirus) และค็อกซากี (Coxsackie) โดยการติดต่อทางน้ำตาผ่านการสัมผัสโดยตรงจากมือ หรือเครื่องใช้ และไปสัมผัสตาขออีกคนหรือถูกน้ำสกปรกเข้าตา แต่ไม่ติดต่อทางการมองทางอากาศ หรือรับประทานอาหารร่วมกัน โรคนี้พบบ่อยในช่วงฤดูฝน ซึ่งมักเกิดการระบาดในชุมชนที่มีคนอยู่ร่วมกันสามารถพบผู้ติดเชื้อได้ทุกช่วงอายุ แต่ในเด็กจะระบาดได้ง่ายกว่า ทั้งนี้ความรุนแรงของโรคมีไม่มาก และสามารถหายเองได้

วิธีรักษา

  • หมั่นล้างมือด้วยสบู่และน้ำให้สะอาดอยู่เสมอก่อนสัมผัส หรือขยี้ตา
  • ไม่คลุกคลีใกล้ชิดกับคนที่เป็นตาแดง หากหลีกเลี่ยงไม่ได้ให้ล้างมือหลังสัมผัสทุกครั้ง
  • ไม่ใช้สิ่งของร่วมกับผู้ป่วย
  • ไม่ใช้มือแคะ แกะ เกาหน้าตา
  • ถ้ามีฝุ่นละออง หรือน้ำสกปรกเข้าตา ควรล้างตาด้วยน้ำสะอาดทันที
  • อย่าปล่อยให้แมลงหวี่ หรือแมลงวันตอมตา

นอกจากนี้ ควรหมั่นดูแลรักษาความสะอาดของร่างกาย สิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ เช่น เสื้อผ้าผ้าเช็ดตัว ผ้าปูที่นอน ปลอกหมอน ผ้าเช็ดหน้า ให้สะอาดอยู่เสมอ ไม่ใช้สิ่งของเหล่านี้ร่วมกับผู้อื่น รวมถึงหลีกเลี่ยงการว่ายน้ำในช่วงที่มีตาแดงระบาด

.

6.โรคไข้เลือดออก

        เกิดจากเชื้อไวรัสแดง 4 สายพันธุ์ และมีพาหะเป็นยุงลายตัวเมียนำโรค เมื่อยุงลายตัวเมียกัดและดูดเลือดผู้ป่วยที่อยู่ในระยะไข้ ซึ่งเป็นระยะที่มีไวรัสอยู่ในกระแสเลือดมาก เชื้อไวรัสจะเข้าสู่กระเพาะยุง และเพิ่มจำนวนมากขึ้น แล้วเดินทางเข้าสู่ต่อมน้ำลาย พร้อมที่จะเข้าสู่คนที่ถูกกัดต่อไป เมื่อยุงที่มีเชื้อไวรัสเดงกีไปกัดคนอื่นก็จะปล่อยเชื้อไปยังคนที่ถูกกัด ทำให้คนนั้นป่วยได้

วิธีรักษา

        ปัจจุบันยังไม่มียาฆ่าเชื้อไวรัสเดงกี จึงให้การรักษาแบบประคับประคองตามอาการ แพทย์ผู้รักษาจะต้องเข้าใจธรรมชาติของโรค และให้การดูแลผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด จะต้องมีการดูแลรักษาพยาบาลที่ดีตลอดระยะวิกฤต คือ ช่วง 24-48 ชั่วโมง ที่มีการรั่วของพลาสมา หลักในการรักษามีดังนี้

  • ในระยะไข้สูง บางรายอาจมีอาการชักได้ถ้าไข้สูงมาก ให้ยาลดไข้ ควรใช้ยาพวกพาราเซตามอล ห้ามใช้ยาพวกแอสไพริน, ibrupophen, steroid เพราะจะทำให้เกล็ดเลือดเสียการทำงาน จะระคายกระเพาะทำให้เลือดออกได้ง่ายขึ้น
  • ให้ผู้ป่วยได้สารน้ำชดเชย เพราะผู้ป่วยส่วนใหญ่มีไข้สูง เบื่ออาหาร และอาเจียน ทำให้ขาดน้ำและเกลือโซเดียม ควรให้ผู้ป่วยดื่มน้ำผลไม้หรือสารละลายผงน้ำตาลเกลือแร่
  • ติดตามดูอาการผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด เพื่อจะได้ตรวจพบและป้องกันภาวะช็อกได้ทันเวลา
  • ดูการเปลี่ยนแปลงของเกล็ดเลือดและ hematocrit เป็นระยะๆ เพราะถ้าปริมาณเกล็ดเลือดเริ่มลดลง และ hematocrit เริ่มสูงขึ้น เป็นเครื่องบ่งชี้ว่าน้ำเหลืองรั่วออกจากเส้นเลือดและอาจจะช็อกได้ จำเป็นต้องให้สารน้ำชดเชย

       สำหรับผู้ป่วยที่มีภาวะช็อกหรือเลือดออก แพทย์จะต้องให้การรักษาเพื่อแก้ไขสภาวะดังกล่าว ด้วย สารน้ำ พลาสมา หรือสาร colloid อย่างระมัดระวัง เพื่อช่วยชีวิตผู้ป่วยและป้องกันโรคแทรกซ้อน

.

7.โรคฉี่หนู

        เกิดจากสาเหตุจากการติดเชื้อแบคทีเรียรูปเกลียว ที่มีชื่อว่า เล็บโตสไปร่าอินเทอโรแกนส์ (Leptospira interrogans) มักพบการระบาดในหน้าฝนโดยสัตว์ที่แพร่เชื้อโรคนี้ ได้แก่ พวกสัตว์ฟันแทะ เช่น หนู แต่ไม่มีอาการแสดงในสัตว์ สัตว์จะเก็บเชื้อไว้ที่ไต เมื่อฉี่ออกมาจะมีเชื้อนี้ปนอยู่ด้วยนอกจากจะพบเชื้อนี้ในหนูแล้วยังพบได้ใน สุนัข วัว ควาย เชื้อโรคนี้สามารถเข้าสู่ร่างกายคนได้ 2 ทางคือ

1.ทางตรง โดยการสัมผัสสัตว์ที่มีเชื้ออยู่ หรือ โดนสัตว์ที่มีเชื้อกัด

2.ทางอ้อม เช่น เชื้อจากฉี่หนูปนอยู่ในน้ำหรือดิน แล้วเข้าสู่คนทางบาดแผล

วิธีรักษา

  • ป้องกันการเกิดโรคด้วยการหลีกเลี่ยงการสัมผัสน้ำหรือสิ่งแวดล้อมที่อาจปนเปื้อนปัสสาวะสัตว์ที่อาจมีเชื้อโรคฉี่หนู เช่น การเดินลุยน้ำ ย่ำโคลน หรือการแช่น้ำนาน ๆ
  •  ถ้ามีบาดแผลตามร่างกาย หรือแค่รอยถลอก รอยขีดข่วน ควรงดลงน้ำ หากจำเป็นต้องเดินลุยน้ำควรให้สวมรองเท้าบูทเพื่อป้องกันน้ำไม่ให้น้ำถูกแผล และระวังอย่าให้มีน้ำขังในรองเท้าบูทที่ใส่ กำจัดขยะไม่ให้เป็นที่อยู่อาศัยของหนู 
  • กำจัดหนูตามแหล่งที่อยู่อาศัย หลีกเลี่ยงการว่ายน้ำในแหล่งน้ำที่อาจมีเชื้อโรคฉี่หนูปนเปื้อนอยู่ ผู้ที่ทำงานเสี่ยงต่อโรคควรใช้ถุงมือยาง รองเท้าบูท หลีกเลี่ยงการทำงานในน้ำ ถ้าต้องลุยน้ำเป็นเวลานานหรือจำเป็นต้องทำงานในสภาวะดังกล่าวควรสวมใส่เครื่องป้องกัน หากไปแช่หรือย่ำน้ำที่อาจมีเชื้อโรคฉี่หนูปนเปื้อนอยู่ควรรีบอาบน้ำทำความสะอาดร่างกายโดยเร็วและเช็ดตัวให้แห้ง

.

8.โรคมือเท้าปาก

         เกิดจากเชื้อไวรัสที่อยู่ในลำไส้คน พบบ่อยในกลุ่มเด็กเล็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ปี โรคนี้เกิดขึ้นได้ทั้งปี แต่จะระบาดมากในช่วงหน้าฝน เพราะอากาศชื้น ซึ่งก็ตรงกับช่วงปิดเทอมของบ้านเราพอดี

        เชื้อโรคจะอยู่ในน้ำลาย น้ำมูก อุจจาระ และน้ำจากตุ่มพองในแผล เด็กเล็ก ๆ ที่อยู่ในโรงเรียนมักเกิดจากการไอจามรดกัน ใช้ภาชนะร่วมกัน หรือเล่นของเล่นที่เปื้อนน้ำลายน้ำมูกของเด็กที่ป่วยชื้อโรคจะติดต่อกันในช่วงสัปดาห์แรกของการป่วย ซึ่งหลังจากรับเชื้อ 3 – 6 วัน จะมีอาการป่วย

วิธีรักษา

  • รักษาสุขอนามัยด้วยการล้างมือบ่อยๆ
  • หลีกเลี่ยงการใช้สิ่งของร่วมกัน เช่นแก้วน้ำ หลอด ผ้าเช็ดหน้า ของเล่น เป็นต้น
  • จะต้องให้คำแนะนำไม่ให้เด็กๆ ใช้สิ่งของร่วมกัน รวมทั้งผู้ปกครอง และคุณครูต้องหมั่นรักษาความสะอาดของเล่น อุปกรณ์ เครื่องใช้ สถานที่ และห้องสุขาอยู่เสมอ
  • รับประทานอาหารปรุงสุกใหม่ และหมั่นดื่มน้ำสะอาด
  • พักผ่อนให้เพียงพอ รวมทั้งควรอยู่ในห้องที่มีอากาศถ่ายเทและแสงแดดส่องถึง
  • หากพบผู้ป่วยต้องไม่คลุกคลีหรือใกล้ชิดอย่างเด็ดขาด
  • ทันทีที่พบเห็นผู้ป่วย ต้องรีบป้องกันไม่ให้เชื้อไวรัสนี้กระจายไปยังผู้อื่น ควรปิดสถานที่นั้นๆ เพื่อทำความสะอาดและฆ่าเชื้อโรค นอกจากนั้นควรแนะนำผู้ปกครอง หรือคุณครูให้รีบพาเด็กไปพบแพทย์ และหยุดรักษาตัวที่บ้านประมาณ 1 สัปดาห์ หรือจนกว่าจะหายเป็นปกติ

.

9.โรคน้ำกัดเท้าที่เกิดจากเชื้อรา

          เกิดจากการติดเชื้อรา ซึ่งเป็นกลุ่มเดียวกันกับเชื้อราที่ทำให้เกิดโรคขี้กลาก นั่นคือ เชื้อราในสายพันธ์ Dermatophytes โดยเชื้อราชนิดนี้จะสามารถเจริญเติบโตได้ดีในที่เปียกชื้น เช่น รองเท้าที่ลุยน้ำท่วม พื้นห้องอาบน้ำ หรือพื้นบริเวณสระว่ายน้ำ เป็นต้น เมื่อเราใส่รองเท้าที่มีเชื้อราชนิดนี้เจริญเติบโตอยู่จะทำให้เกิดโรคจะเกิดอาการที่พบได้บ่อยในง่ามนิ้วเท้า โดยอาการในระยะแรกที่ยังไม่มีการติดเชื้อนั้นเท้าจะมีลักษณะเปื่อย แดง และลอกเพราะเกิดการระคายเคือง แต่ถ้าหากมีอาการคันและเกาจนเกิดเป็นแผลจะมีการอักเสบ และติดเชื้อได้ง่าย ซึ่งการติดเชื้อจะทำให้เกิดอาการแสบร้อน ปวด แผลเป็นหนอง ผิวเป็นขุย และลอกออกเป็นแผ่นสีขาว อาจมีกลิ่นเหม็นตามซอกเท้าน้ำกัดเท้านั่นเอง

          นอกจากนี้เชื้อราชนิดนี้ยังสามารถติดเชื้อได้จากการใช้ของร่วมกับผู้อื่น เช่น รองเท้า ถุงน้ำ ผ้าเช็ดตัว เป็นต้น ซึ่งเชื้อราชนิดนี้สามารถเกิดขึ้นกับอวัยวะในส่วนอื่น ๆ ได้ด้วย

วิธีรักษา

  • หลีกเลี่ยงการยืนแช่น้ำเป็นเวลานาน
  • เมื่อต้องลุยน้ำ ควรสวมถุงพลาสติก หรือสวมถุงดำหุ้มเท้าไว้เพื่อป้องกันการเกิดเชื้อรา และป้องกันของมีคมทิ่มแทงเท้า
  • หากมีความจำเป็นต้องเดินลุยน้ำโดยไม่ได้สวมถุงพลาสติก เมื่อลุยน้ำแล้วควรรีบทำความสะอาดเท้า และเช็ดเท้าให้แห้ง โดยเฉพาะบริเวณซอกนิ้วเท้าที่มักจะเป็นแหล่งสะสมของเชื้อโรค และเกิดการติดเชื้อได้ง่าย
  • ไม่ใช้ของร่วมกับผู้อื่น เช่น ร้องเท้าแตะ ถุงเท้า ผ้าเช็ดตัว เป็นต้น
  • ผู้ป่วยโรคเบาหวานควรเลี่ยงการลุยน้ำ เพราะหากเกิดแผลจะมีโอกาสติดเชื้อได้ง่าย และรักษาให้หายได้ยากกว่าคนปกติ
  • หากเกิดบาดแผลลึกควรรีบทำความสะอาดแผลทันที หรือเข้าใช้บริการที่สาธารณสุขใกล้บ้านเพื่อทำแผล และหากบาดแผลมีหนอง หรือเกิดการอักเสบควรรีบพบแพทย์ทันที

.

.

ที่มา : โรงพยาบาลสินแพทย์ , โรงพยาบาลเปาโล , กรมควบคุมโรค , กระทรวงสาธารณสุข

พรสวรรค์ ชาติมนตรี (นักศึกษาฝึกประสบการณ์)