คีเปล : ผลไม้ที่ทำให้กลิ่นกายหอม เป็นผลไม้ที่มีรสชาติหวานหอม เมื่อรับประทานในระยะเวลาหนึ่ง จะช่วยให้มีกลิ่นกายที่หอมได้ไซส์ใหญ่เริ่มต้นที่ลูกละ65กรัมขึ้นไป (ขีดละ390บาท)ไซส์เล็ก ลูกละ45กรัม-60กรัม (ขีดละ250บาท)?เมล็ดเก็บไว้เพาะได้
ที่มา : Nueng Banfa
ชื่อสามัญ Kepel
ชื่อวิทยาศาสตร์ Steleshocarpus Burahol (Blume) Hook. F-Thoms (Annon)
คีเปล เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ จัดเป็นพืชที่อยู่ในวงศ์เดียวกันกับกระดังงา มีถิ่นกำเนิดอยู่ในประเทศอินโดนีเซีย ในสมัยโบราณ ต้นไม้ชนิดนี้จะปลูกได้เฉพาะในพระราชวังเท่านั้น บุคคลทั่วไปห้ามปลูกโดยเด็ดขาด ซึ่งพระเจ้าแผ่นดินจะให้มเหสีหรือนางสนมรับประทานผลของคีเปล เพื่อให้มีกลิ่นกายหอม นับได้ว่าเป็นพรรณไม้ที่แปลกและหายากอีกชนิดหนึ่ง
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ลำต้น
ลำต้นมีความสูงตั้งแต่ประมาณ 10-21 เมตร มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางถึง 40 ซม. เปลือกลำต้นเป็นสีน้ำตาล เรียบ แตกกิ่งก้านสาขามากมาย
ใบ
มีลักษณะเป็นรูปรี โคนใบสอบ ปลายใบแหลม ขอบใบเรียบ แผ่นใบเรียบมีสีเขียวเป็นมัน มีขนาดความกว้างประมาณ 3-5 ซม. ยาวประมาณ 6-8 ซม. ใบที่ยังอ่อนอยู่จะมีสีแดงอมชมพู ออกเป็นใบเดี่ยวเรียงสลับกันที่ปลายกิ่ง
ดอก
ออกเป็นช่อกระจุกตามซอกใบและกิ่งก้าน ในแต่ละช่อประกอบไปด้วยดอกย่อยสีเหลืองขนาดเล็กจำนวนหลายดอก มีกลีบดอกและกลีบเลี้ยงอย่างละ 4 กลีบ มีเกสรรวมกันเป็นกระจุกอยู่บริเวณกลางดอก ให้ดอกได้ประมาณปีละ 2 ครั้ง เมื่อดอกบานจะส่งกลิ่นหอมแรงไปตลอดทั้งวัน
ผล
มีลักษณะเป็นรูปทรงกลมขนาดใหญ่เท่ากำมือ ติดผลบริเวณลำต้นเป็นจำนวนมาก ผลอ่อนมีสีน้ำตาลผิวหยาบ ต่อมาจะกลายเป็นสีขาวอมเหลืองผิวเรียบ และเมื่อแก่จัดจะมีสีน้ำตาลเข้ม ก้านผลยาวห้อยลงมา เนื้อภายในผลมีสีเหลืองฉ่ำน้ำ รสหวานและหอมมาก หลังจากติดดอกมาได้ประมาณ 3-4 เดือน ก็จะเริ่มให้ผล ซึ่งอยู่ในช่วงเดือนธันวาคม-มีนาคม และในช่วงเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม การติดผลในช่วงแรกจะดกกว่าในช่วงที่สอง
เมล็ด
มีลักษณะเป็นรูปไข่ขนาดใหญ่สีน้ำตาลเข้มอมดำ เปลือกเมล็ดแข็ง ในแต่ละผลจะมีเมล็ดอยู่ประมาณ 3-6 เมล็ด
ประโยชน์
ผลมีรสหวาน กลิ่นหอม เมื่อรับประทานเข้าไปจะทำให้เหงื่อและกลิ่นตัวหอมสดชื่น และยังมีสรรพคุณทางยาที่ช่วยให้ถ่ายปัสสาวะได้คล่องไม่ติดขัด สิ่งที่ถูกขับถ่ายออกมาจากร่างกายไม่มีกลิ่นแรงจนเกินไป และยังสามารถปลูกเป็นไม้ประดับตามอาคารบ้านเรือนได้ เนื่องจากมีใบอ่อนสีแดงอมชมพูสวยงาม แถมยังให้ดอกสีเหลืองงดงามส่งกลิ่นหอมแรงไปตลอดทั้งวัน เมื่อให้ผลก็ใช้รับประทานได้ด้วย จึงควรอนุรักษ์ต้นไม้หายากและมีประโยชน์ชนิดนี้ไว้ เพื่อไม่ให้สูญพันธุ์
ที่มา :ศูนย์การเรียนรู้อุทยาน-พรรณไม้
ที่มาเฟสบุ๊ค : Nueng Banfa
ณัฐกานต์ จี๋แปง ( นักศึกษาฝึกประสบการณ์ )