ฟิลิปส์ ร่วมกับ ศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดศูนย์การเรียนรู้ตลอดชีวิต “CMEx Lifelong Learning Center” ศูนย์การเรียนรู้ทางการแพทย์แห่งแรกในภาคเหนือสำหรับบุคลากรทางการแพทย์และประชาชนทั่วไป พร้อมดันให้เป็น Medical Learning Hub เพื่อรองรับบุคลากรทางการแพทย์ในกลุ่มประเทศ CLMV
24 พฤษภาคม 2565 – การเผยแพร่ความรู้ด้านสุขภาพให้กับประชาชนทั่วไป และการพัฒนาศักยภาพของบุคลากรทางการแพทย์นับว่าเป็นเรื่องสำคัญเป็นอย่างยิ่งสำหรับแวดวงสาธารณสุข เพื่อให้ทั้งภาคประชาชนมีความรู้และแนวทางในการดำเนินชีวิตให้มีสุขภาพที่ดี ในขณะเดียวกันการเตรียมความพร้อมและพัฒนาศักยภาพให้กับบุคลากรทางการแพทย์ก็เป็นสิ่งที่จำเป็น ตั้งแต่การคัดกรอง การตรวจวินิจฉัย ไปจนถึงการรักษา พร้อมทั้งอัพเดทความก้าวหน้าของเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่มีอยู่อย่างต่อเนื่อง เพราะเทคโนโลยีทางการแพทย์เป็นหนึ่งในตัวช่วยสำคัญในการดูแลผู้ป่วยอย่างมีประสิทธิภาพ
ดังนั้น บริษัท ฟิลิปส์ (ประเทศไทย) จำกัด ในฐานะผู้นำด้านเทคโนโลยีเพื่อการดูแลสุขภาพ จึงได้ร่วมกับ ศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผู้นำด้านบริการทางการแพทย์และวิชาการที่มีเอกลักษณ์ จัดตั้ง “ศูนย์การเรียนรู้ตลอดชีวิต” หรือ “CMEx Lifelong Learning Center” ขึ้นเป็นแห่งแรกในภาคเหนือ เพื่อเป็นศูนย์การเรียนรู้ทางการแพทย์ที่ให้ความรู้กับประชาชนทั่วไป และเป็นศูนย์ฝึกอบรมให้กับบุคลากรทางการแพทย์ในภูมิภาค พร้อมทั้งยังเตรียมรองรับแพทย์จากในกลุ่มประเทศ CLMV ด้วย
รองศาสตราจารย์แพทย์หญิง อรินทยา พรหมินธิกุล ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า “ศูนย์การเรียนรู้ตลอดชีวิต CMEx Lifelong Learning Center นี้ จัดตั้งขึ้นด้วยวัตถุประสงค์ที่จะเผยแพร่ความรู้ให้กับประชาชนทั่วไปหรือหน่วยงานต่างๆ ที่ต้องการฝึกอบรมทางด้านการแพทย์และการดูแลสุขภาพ ตลอดจนการพัฒนาศักยภาพและฝึกอบรมบุคลากรทางการแพทย์ทางด้านต่างๆ อาทิ อัพเดทความก้าวหน้าของเทคโนโลยีทางการแพทย์ การฝึกอบรมการใช้เครื่องมือแพทย์เฉพาะทาง เป็นต้น เนื่องจากบุคลากรทางการแพทย์ในภูมิภาคมีจำนวนจำกัด โดยทางศูนย์ฯ มีโครงการฝึกอบรมสำหรับบุคลากรทางการแพทย์อย่างน้อย 2 โครงการ และให้ความรู้สำหรับประชาชนทั่วไป 2 โครงการ นอกจากนี้ เรายังมีความตั้งใจที่จะผลักดันให้ศูนย์ฯ นี้เป็นศูนย์การเรียนรู้สำหรับฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการบุคลากรทางการแพทย์ในกลุ่มประเทศ CLMV ได้แก่ กัมพูชา ลาว เมียนมาร์ และเวียดนาม เนื่องจากประเทศไทยถือเป็นผู้นำทางการแพทย์ในภูมิภาคอาเซียน ทำให้หลายๆ ครั้ง ประชาชนในกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านอย่าง CLMV นิยมเดินทางมาใช้บริการทางการแพทย์ในประเทศไทย ดังนั้น การผลักดันให้ศูนย์ฯ แห่งนี้สามารถฝึกอบรมบุคลากรทางการแพทย์ในกลุ่มประเทศ CLMV จะช่วยรองรับการเป็น Medical Hub ของไทยในภูมิภาคอาเซียนได้”
สำหรับการฝึกอบรมของศูนย์การเรียนรู้ตลอดชีวิต (CMEx Lifelong Learning Center) ในเฟสแรกได้ดำเนินการฝึกอบรมไปแล้ว โดยมุ่งเน้นการดูแลและป้องกันเกี่ยวกับโรคหัวใจ เนื่องจากปัจจุบันโรคหัวใจและหลอดเลือดเป็นหนึ่งในสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้นๆ ในประเทศไทย โดยมีผู้เสียชีวิตจากโรคดังกล่าวถึงร้อยละ 12 จากสาเหตุการเสียชีวิตทั้งหมด ในขณะที่รายงานขององค์การอนามัยโลก (WHO) พบว่ามีผู้เสียชีวิตจากกลุ่มโรคหัวใจและหลอดเลือดประมาณ 17.9 ล้านคนทั่วโลก หรือคิดเป็นร้อยละ 32 จากผู้เสียชีวิตทั้งหมด
อาจารย์นายแพทย์ รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์ ประธานคณะทำงานศูนย์การเรียนรู้ ศูนย์การเรียนรู้ตลอดชีวิต กล่าวว่า “ปัจจุบัน โรคหัวใจและหลอดเลือดกลายเป็นปัญหาสำคัญทางสาธารณสุขของประเทศไทย โดยมีผู้ป่วยกว่า 350,000 คน เสียชีวิตกว่า 6 หมื่นรายต่อปี หรือเฉลี่ยชั่วโมงละ 7 ราย และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นทุกปี ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่มาจากโรคหลอดเลือดหัวใจตีบและภาวะหัวใจล้มเหลว สำหรับประชาชนทั่วไป วิธีสังเกตง่ายๆ ถึงสัญญาณของโรคหัวใจ คือ อาการเจ็บแน่นหน้าอก เหนื่อยง่าย นอนราบไม่ได้ ดังนั้น การพัฒนาศักยภาพให้บุคลากรทางการแพทย์เพื่อรองรับการดูแลผู้ป่วยจึงเป็นสิ่งที่จำเป็น อย่างในการเรียนการสอนเฟสแรก เรามุ่งเน้นการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการให้กับแพทย์ทั่วไปเกี่ยวกับบทบาทการใช้เครื่องตรวจวินิจฉัยแบบคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูงหรือเครื่องอัลตราซาวนด์(Ultrasound) สำหรับการตรวจวินิจฉัยโรคหัวใจ ทั้งนี้เนื่องด้วยในปัจจุบัน เครื่องตรวจอัลตราซาวนด์มีใช้กันอย่างแพร่หลาย ด้วยเป็นเทคโนโลยีที่เหมาะสมราคาไม่แพง เป็นการตรวจที่ไม่มีรังสี ปัจจุบันมีการพัฒนาให้มีขนาดเล็ก พกพาได้ สามารถตรวจ ณ จุดให้การดูแลรักษา ข้างเตียงผู้ป่วยได้ จึงมีบทบาทอย่างมากในการช่วยแพทย์วินิจฉัยโรคในภาวะฉุกเฉินเร่งด่วน งานวิจัยแสดงให้เห็นว่า แพทย์ทั่วไปที่ไม่ใช่อายุรแพทย์โรคหัวใจ สามารถฝึกฝนให้ทำการตรวจอัลตราซาวนด์แบบพกพา Point of Care Cardiac Ultrasound ได้จนชำนาญพียงพอ นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงการตัดสินใจทางคลินิก โดยช่วยยืนยันการวินิจฉัยเบื้องต้นในผู้ป่วยราว 50% และเปลี่ยนแปลงการวินิจฉัยแรกให้ถูกต้องได้ถึง 23% อย่างไรก็ตาม พบว่าในปัจจุบัน แพทย์ทั่วไปจำนวนมากยังขาดทักษะและความชำนาญในการใช้เครื่องมือดังกล่าวให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ทางศูนย์การเรียนรู้ตลอดชีวิต จึงเล็งเห็นความจำเป็นที่ต้องเร่งกระจายองค์ความรู้และเพิ่มศักยภาพให้แพทย์ที่ปฏิบัติงานอยู่ในโรงพยาบาลขนาดกลางและขนาดเล็กที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ ให้สามารถใช้เครื่องอัลตราซาวนด์ช่วยในการวินิจฉัยและดูแลผู้ป่วยในภาวะฉุกเฉินได้ทันท่วงที นอกจากการฝึกอบรมที่เกี่ยวข้องกับโรคหัวใจและหลอดเลือดแล้ว เราก็ยังมีแผนต่อยอดการฝึกอบรมในสาขาอื่นๆ อีกด้วย”
“นอกจากนี้ เรายังได้มีการจัดฝึกอบรมการช่วยชีวิตพื้นฐาน (Basic Life Support) ด้วยการทำ CPR และการใช้เครื่อง AED สำหรับประชาชนทั่วไป ซึ่งส่วนมากเกิดจากภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันหรือที่เรียกว่า Sudden Cardiac Arrest จากสถิติพบว่าในแต่ละปี มีคนไทยเสียชีวิตจากภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันกว่า 54,000 ราย ซึ่งภาวะดังกล่าวไม่มีสัญญาณเตือนใดๆ เหมือนโรคหัวใจและหลอดเลือดแบบอื่นๆ แต่หากประชาชนรู้ว่าหากพบผู้ป่วยหมดสติจะช่วยเหลือพื้นฐานได้อย่างไร ก่อนที่ความช่วยเหลือทางการแพทย์จะมาถึง ก็สามารถเพิ่มโอกาสรอดชีวิตให้ผู้ป่วยได้” อาจารย์นายแพทย์ รังสฤษฎ์ กล่าวทิ้งท้าย
ด้าน นายวิโรจน์ วิทยาเวโรจน์ ประธานและกรรมการผู้จัดการ บริษัท ฟิลิปส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “ฟิลิปส์ ในฐานะผู้นำด้านเทคโนโลยีเพื่อสุขภาพ นอกจากเราได้ส่งมอบนวัตกรรมและเทคโนโลยีทางการแพทย์อันทรงคุณค่าเพื่อสนับสนุนการทำงานของโรงพยาบาลและบุคลากรทางการแพทย์แล้ว เรายังเล็งเห็นถึงความสำคัญในการเผยแพร่ความรู้ด้านสุขภาพให้กับประชาชน พร้อมทั้งสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพของบุคลากรทางการแพทย์ของไทยอีกด้วย เราจึงได้ร่วมกับศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ตลอดชีวิต CMEx Lifelong Learning Center นี้ขึ้น เพื่อช่วยยกระดับวงการแพทย์ไทยและรองรับการก้าวสู่ความเป็น Medical Hub ในภูมิภาค นอกจากนี้ เรายังได้สนับสนุนเครื่องอัลตราซาวนด์แบบพกพา Philips Lumify ให้กับทางศูนย์ฯ เพื่อใช้สำหรับการฝึกอบรมให้กับบุคลากรทางการแพทย์ เป็นการอัพเดทความก้าวหน้าของเทคโนโลยีอัลตราซาวนด์จากที่เราเคยใช้เครื่องขนาดใหญ่ แต่ตอนนี้เราสามารถย่อเครื่องอัลตราซาวนด์ให้เล็กลงอยู่ในหัวตรวจเพียงอันเดียว แล้วยังสามารถเชื่อมต่อกับแท็บเล็ต พร้อมทั้งมีโซลูชั่นส่งข้อมูลระยะไกลแบบเรียลไทม์ได้อีกด้วย ซึ่งเครื่องอัลตราซาวนด์แบบพกพา Philips Lumify นี้มีประโยชน์อย่างมากในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด เพราะสามารถตรวจติดตามอาการปอดและหัวใจของผู้ป่วยโควิด และยังเคลื่อนย้ายไปยังวอร์ดผู้ป่วยได้ ทำความสะอาดง่าย สามารถป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อได้ เราจึงเห็นว่าการนำเทคโนโลยีดังกล่าวมาเผยแพร่ให้ความรู้กับบุคลากรทางการแพทย์จะเป็นประโยชน์ไม่มากก็น้อย และเราหวังว่าศูนย์การเรียนรู้ตลอดชีวิตแห่งนี้ จะเป็นหนึ่งในตัวช่วยสำคัญที่จะขับเคลื่อนวงการแพทย์และผลักดันศักยภาพของบุคลากรทางการแพทย์ไทย และประเทศในกลุ่ม CLMV”
ประมวลภาพ :