เรื่องจริงผู้ที่เกิดหลังปี 2523 เป็นกลุ่มเสี่ยงต่อโรคฝีดาษลิง มากกว่าประชากรกลุ่มอื่น
ตามที่มีการเผยแพร่ข่าวสารในสังคมออนไลน์เรื่องผู้ที่เกิดหลังปี 2523 เป็นกลุ่มเสี่ยงต่อโรคฝีดาษลิง มากกว่าประชากรกลุ่มอื่น ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงโดยกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข พบว่าประเด็นดังกล่าวนั้น เป็นข้อมูลจริง ✅
.
กรมควบคุมโรคเผยยังไม่มียารักษาฝีดาษลิงโดยเฉพาะ ส่วนใหญ่หายเองได้ อาการรุนแรงมักพบในเด็ก โดยอัตราการตายในแอฟริกาพบ 10% วัคซีนไข้ทรพิษช่วยป้องกันได้ 85% ซึ่งคนเกิดหลังปี 2523 ไม่ได้ปลูกฝีอาจเป็นกลุ่มเสี่ยงต่อโรคฝีดาษลิง โดยอธิบดีกรมควบคุมโรคได้กล่าวถึงโรคฝีดาษลิงว่า โรคดังกล่าวไม่ใช่โรคใหม่ เคยระบาดมาแล้วมากกว่า 20 ปี และเกิดจากเชื้อไวรัสกลุ่ม Poxviridae อยู่ในจีนัส Orthopoxvirus เช่นเดียวกับไวรัสฝีดาษคนหรือไข้ทรพิษ (variola virus) ไวรัสที่นำมาผลิตวัคซีนป้องกันฝีดาษในคน (vaccinia virus) และฝีดาษวัว (cowpox virus) ทั้งนี้ ไวรัสฝีดาษลิงพบได้ในสัตว์หลายชนิด โดยเฉพาะตระกูลลิงและสัตว์ฟันแทะ เช่น กระรอก หนูป่า เป็นต้น รวมทั้งคนก็ติดโรคได้ คนจะติดโรคจากการสัมผัสโดยตรงกับเลือด สารคัดหลั่ง หรือตุ่มหนองของสัตว์ที่ติดเชื้อ หรือจากการถูกสัตว์ที่มีเชื้อกัดข่วน การประกอบอาหารจากเนื้อสัตว์ป่า หรือกินเนื้อสัตว์ที่ปรุงสุกไม่เพียงพอ หรืออาจติดทางอ้อมจากการสัมผัสที่นอนของสัตว์ป่วย การแพร่เชื้อจากคนสู่คนแม้มีโอกาสน้อย แต่อาจเกิดขึ้นได้จากการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยผ่านทางสารคัดหลั่งจากทางเดินหายใจ ผิวหนังที่เป็นตุ่ม หรืออุปกรณ์ที่มีการปนเปื้อนเชื้อ
.
เมื่อคนรับเชื้อเข้าสู่ร่างกายจะมีระยะฟักตัว 7-14 วัน อาจนานถึง 21 วัน อาการเริ่มแรกจะมีไข้ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดหลัง ต่อมน้ำเหลืองโต หนาวสั่น อ่อนเพลีย จากนั้น 1-3 วัน จะมีผื่นขึ้นบริเวณแขนขา และอาจจะเกิดบนหน้าและลำตัวได้ด้วย ผื่นจะกลายเป็นตุ่มหนอง ในระยะสุดท้ายตุ่มหนองจะเป็นสะเก็ดแล้วหลุดออกมา อาการป่วยประมาณ 2-4 สัปดาห์ ส่วนใหญ่หายจากโรคเองได้ อาการรุนแรงมักพบในกลุ่มเด็ก ซึ่งในแอฟริกาพบอัตราการเสียชีวิตประมาณ 10%
สำหรับการป้องกันควบคุมโรค เริ่มจากป้องกันตนเอง คือ
1. หลีกเลี่ยงการสัมผัสโดยตรงกับเลือด สารคัดหลั่ง หรือตุ่มหนองของสัตว์ที่ติดเชื้อหรือสัตว์ป่า
2. หลีกเลี่ยงการกินเนื้อสัตว์ที่ปรุงสุกไม่เพียงพอ
3. ล้างมือบ่อยๆ ด้วยสบู่และน้ำหรือเจลแอลกอฮอล์เมื่อสัมผัสกับสัตว์หรือคนที่ติดเชื้อ หรือเดินทางเข้าไปในป่า
4. ไม่นำสัตว์ป่ามาเลี้ยงหรือนำเข้าสัตว์จากต่างประเทศโดยไม่มีการคัดกรองโรค
5. หลังกลับจากประเทศที่เป็นเขตติดโรค ต้องทำการคัดกรองและเฝ้าระวังอาการจนครบ 21 วัน หากมีอาการเจ็บป่วยให้รีบไปพบแพทย์ และแยกกักเพื่อมิให้แพร่กระจายเชื้อ
.
ปัจจุบันยังไม่มีการรักษาโรคฝีดาษลิงที่เฉพาะเจาะจง แต่ควบคุมการระบาดได้ด้วยการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้ทรพิษ ซึ่งป้องกันโรคฝีดาษลิงได้ 85% โดยก่อนหน้าที่จะกวาดล้างไข้ทรพิษได้มีการฉีดวัคซีนหรือปลูกฝี ซึ่งจะช่วยป้องกันทั้ง 2 โรค ซึ่งเด็กที่เกิดหลังปี 2523 จะไม่เคยได้รับการฉีดวัคซีนไข้ทรพิษมาก่อน จึงเป็นกลุ่มเสี่ยงต่อโรคฝีดาษลิงมากกว่าประชากรกลุ่มอื่น
.
ทั้งนี้ เพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารจากกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข สามารถติดตามได้ที่เว็บไซต์ https://ddc.moph.go.th/ หรือโทร 02-590-3000
.
หน่วยงานที่ตรวจสอบ : กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข
พรสวรรค์ ชาติมนตรี (นักศึกษาฝึกประสบการณ์)