คกก.บริหารกำจัดโรคไข้มาลาเรียแห่งชาติ ติดตามความก้าวหน้า-เร่งป้องกัน ไข้มาลาเรียชนิดโนวไซ ตามแนวชายแดน หลังพบผู้ป่วยเพิ่ม

109

คณะกรรมการบริหารกำจัดโรคไข้มาลาเรียแห่งชาติ ติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานขับเคลื่อนการกำจัดโรคไข้มาลาเรีย พร้อมหารือแนวทางป้องกันควบคุมโรคไข้มาลาเรียพื้นที่ตามแนวชายแดน และไข้มาลาเรียชนิดโนวไซซึ่งติดต่อจากลิงสู่คน หลังพบผู้ป่วยเพิ่มขึ้น

d9e95ebd4fa1f68bb4a40034c54afb2d.jpg

นายแพทย์เกียรติภูมิ กล่าวว่า โรคไข้มาลาเรียยังเป็นปัญหาสาธารณสุขในประเทศไทย จากการดำเนินโครงการกำจัดโรคไข้มาลาเรียอย่างต่อเนื่องในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา พบว่าจำนวนผู้ป่วยมีแนวโน้มลดลง จาก 14,948 ราย ในปีงบประมาณ 2560 เป็น 2,725 ราย ในครึ่งแรกของปีงบประมาณ 2565 ส่วนผู้เสียชีวิตลดลงจาก 15 ราย เหลือเพียง 1 ราย, จังหวัดที่พบผู้ป่วยโรคไข้มาลาเรียสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ตาก 1,553 ราย, แม่ฮ่องสอน 439 ราย และกาญจนบุรี 214 ราย

สำหรับสถานการณ์โรคไข้มาลาเรียชนิดโนวไซ ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา พบผู้ป่วยเพิ่มขึ้น จาก 2 ราย เป็น 105 ราย ในปีประมาณ 2565 จังหวัดที่พบผู้ป่วยมาก 3 อันดับแรก ได้แก่ ระนอง 42 ราย, สงขลา 18 ราย, และตราด 12 ราย

ซึ่งปัจจุบันพบผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้น ในพื้นที่ตามแนวชายแดนไทย-เมียนมา ไทย-กัมพูชา และไทย-มาเลเซีย และมีจังหวัดที่ประกาศปลอดโรคไข้มาลาเรียไปแล้วกลับมาแพร่เชื้อใหม่

ด้านนายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่าโรคไข้มาลาเรียชนิดโนวไซ ติดต่อจากลิงสู่คนโดยมียุงก้นปล่องเป็นพาหะนำเชื้อ พบมากในประเทศมาเลเซียและอินโดนีเซีย วงรอบของเชื้อในเม็ดเลือดแดงมีระยะสั้นเพียง 24 ชั่วโมง จึงทำให้เกิดอาการรุนแรงได้อย่างรวดเร็ว การตรวจยืนยันชนิดของเชื้อต้องใช้เทคนิค PCR (Polymerase Chain Reaction) ซึ่งกลุ่มเสี่ยงที่จะติดโรค คือ ประชาชนที่ไปพักค้างคืนในป่า หรืออาศัยอยู่ใกล้ชายป่า เจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานในป่าไม้ อุทยาน รวมทั้งทหารและตำรวจตระเวณชายแดน อย่างไรก็ตาม โรคไข้มาลาเรียชนิดโนวไซ ยังนับว่าเป็นโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน

ทั้งนี้ ที่ประชุมเห็นชอบให้ใช้กลไกของคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ภายใต้ พรบ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 มอบหมายให้ประธานคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด เร่งรัด กำกับติดตามการป้องกันควบคุมโรคไข้มาลาเรียในพื้นที่ชายแดนและพื้นที่กลับมาแพร่เชื้อใหม่ นอกจากนี้ ยังมีมติให้ กระทรวงศึกษาธิการ ผลักดันโครงการพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร (กพด.) นำไปสู่การปลอดไข้มาลาเรียในกลุ่มเด็ก, กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ ประยุกต์ใช้แนวทาง One Health ในการป้องกันควบคุมโรคไข้มาลาเรียชนิดโนวไซ กระทรวงกลาโหม (กห.) กระทรวงมหาดไทย (มท.) และกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.) ร่วมกันบูรณาการควบคุมป้องกันมาลาเรียในพื้นที่บริเวณชายแดน ตามมาตรการควบคุมแหล่งแพร่โรคและมาตรการเชิงรุกป้องกันการระบาด

ทั้งนี้ หากประชาชนที่เป็นกลุ่มเสี่ยงหรือเข้าไปพื้นที่ระบาดแล้วมีอาการไข้ หนาว สั่น ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ ขอให้รีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาเชื้อมาลาเรียทันที พร้อมแจ้งประวัติการเข้าป่าหรืออยู่ในพื้นที่ที่มีการแพร่ระบาดของโรคไข้มาลาเรียให้ทราบ หรือหากมีข้อสงสัย สอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วน กรมควบคุมโรค โทร.1422

ที่มา : thecoverage

พรสวรรค์ ชาติมนตรี (นักศึกษาฝึกประสบการณ์)