เทศบาลเมืองแม่เหียะสืบสานประเพณี “เลี้ยงดง” บวงสรวงปู่แสะย่าแสะ พลังศรัทธาสู่การรักษาผืนป่าที่ยั่งยืน
วันที่ 13 มิถุนายน 2565 บริเวณลาน เชิงวัดพระธาตุดอยคำ บ้านแม่เหียะใน ต.แม่เหียะ อ.เมืองเชียงใหม่ จ.เชียงใหม่ ได้จัดพิธีเลี้ยงดงไหว้ผีปู่แสะย่าแสะ ซึ่งเป็นพิธีกรรมสำคัญทางภาคเหนือ โดยสืบทอดกันมากว่า 100 ปี เพื่ออนุรักษ์ผืนป่าให้อยู่คู่กับเชียงใหม่
สืบเนื่องจากความเชื่อที่สืบทอดกันมาหลายชั่วอายุคนของบรรพบุรุษของชาวลัวะ ในการถวายเครื่องเซ่นบูชาแก่ยักษ์ปู่แสะย่าแสะ ที่เชื่อว่าเป็นผู้ปกปักรักษาดอยสุเทพ-ปุย และ ดอยคำ ให้มีความอุดมสมบูรณ์ ทำให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล โดยจะจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี ซึ่งจะถือเอาวันขึ้น 14 ค่ำ เดือน 9 เหนือ หรือก่อนฤดูทำนาเป็นวันประกอบพิธี
โดยมี นายธนวัฒน์ ยอดใจ นายกเทศมนตรีเมืองแม่เหียะ ประธานฝ่ายฆราวาส นำคณะผู้บริหาร สมาชิกสภา กำนันผู้ใหญ่บ้าน พร้อมด้วยคณะศรัทธา ประชาชน เข้าร่วมพิธีในครั้งนี้ ซึ่งในช่วงเช้าได้เริ่มพิธีด้วยการนำข้าวตอกดอกไม้ ผลไม้ อาหารคาวหวาน บวงสรวงศาลรูปปั้นปู่แสะ-ย่าแสะ บริเวณทางขึ้นพระธาตุดอยคำ
ก่อนจะเคลื่อนขบวนเครื่องบวงสรวงไปที่ลานเลี้ยงดง (ในทุกๆ ปีที่ผ่านมาจะมีพิธี ประทับร่างทรง โดยร่างทรงจะกินเนื้อควาย (กระบือ) สด ๆ ตามความเชื่อคือควายดำกลีบเผิ้ง เขากับหูยาวเท่ากัน และเป็นควายหนุ่มยังไม่ผ่านการใช้งาน ที่ถูกใช้เป็นเครื่องเซ่นไหว้ แต่ในปีนี้เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้พิธีบางส่วนได้ถูกงดไป มีการจำกัดผู้คนที่เข้าร่วมพิธี ไม่มีการสังเวยควายทั้งตัว และไม่มีการประทับทรง แต่เป็นการกล่าวคำโอกาสถวายเครื่องสังเวย โดยพ่ออาจารย์ผู้ประกอบพิธี (ปริวรรตคำอัญเชิญปู่แสะย่าแสะ คำอัญเชิญกุมภัณฑ์ คำอัญเชิญขุนหลวงวิรังคะ คำอัญเชิญสุเทวฤๅษี คำอัญเชิญท้าวทั้งสี่) จากนั้นจะมีพิธีแห่ผ้าบฏ (จากวัดป่าจี้) เป็นผืนผ้าที่มีรูปวาดของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปางห้ามญาติ ที่มีอายุเก่าแก่กว่า 100 ปี สร้างขึ้นตั้งแต่ปีพ.ศ. 2469 เข้ามาในบริเวณพิธี นำมาผูกห้อยต้นไม้ บริเวณที่มีการเลี้ยงดง
โดยพระบฏจะมีอาการแกว่งไปมาเสมือนว่าพระพุทธเจ้าได้เสด็จมา เพื่อโปรดมนุษย์ และห้ามมิให้ยักษ์ปู่แสะย่าแสะทั้งสองตน กินเนื้อมนุษย์ และให้ได้คำนึงถึงว่าตนมีหน้าที่ในการเป็นผู้ปกปักรักษาป่าต้นน้ำผืนสุดท้ายในอุทยานดอยสุเทพ ดอยคำ เพื่อเลี้ยงชีวิตชาวแม่เหียะและชาวจังหวัดเชียงใหม่ เป็นพลังศรัทธาสู่การรักษาผืนป่าที่ยั่งยืนสืบไป