“มะเร็ง” จัดอยู่ในกลุ่มโรคร้ายแรงที่คร่าชีวิตผู้ป่วยจำนวนมาก และเป็นโรคที่ยากต่อการรักษาให้หายขาด รวมทั้งมีค่าใช้จ่ายในการรักษาที่สูงมาก ทำให้ผู้ป่วยไม่น้อยไม่สามารถเข้าถึงการรักษา ด้วยเหตุนี้ คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติจึงได้บรรจุให้การรักษาโรคมะเร็งเป็นหนึ่งในสิทธิประโยชน์ภายใต้กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สิทธิบัตรทอง) โดยจะดูแลตามมาตรฐานการรักษา (Protocol) โรคมะเร็งด้วยเคมีบำบัด/รังสีรักษาในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
การรักษาโรคมะเร็งในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาตินั้น จะครอบคลุมโรคมะเร็งทุกประเภท ทั้งมะเร็งเต้านม มะเร็งปอด มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งหลอดอาหาร มะเร็งกระเพาะอาหาร มะเร็งตับและท่อน้ำดี มะเร็งโพรงหลังจมูก มะเร็งปากมดลูก มะเร็งรังไข่ มะเร็งมดลูก มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ มะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งกระดูก มะเร็งเม็ดเลือดขาว มะเร็งต่อมน้ำเหลือง มะเร็งในเด็ก และมะเร็งอื่น ๆ
ข้อมูลจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ระบุว่า ระหว่างปี 2559 – 2561 มีการเบิกจ่ายค่าบริการโรคมะเร็งในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่สะท้อนว่ามีผู้ป่วยมะเร็งเข้าถึงการรักษาอย่างต่อเนื่อง 4,117,504 ครั้ง และชดเชยค่ารักษา 26,679 ล้านบาท เฉพาะปี 2561 ปีเดียว มีผู้ป่วยที่เข้าถึงการรักษา 234,116 คน คิดเป็นการใช้บริการรักษา 1,431,795 ครั้ง ชดเชยค่ารักษา 9,557 ล้านบาท โดย 5 อันดับแรกของโรคมะเร็งที่มีผู้ป่วยเข้ารับบริการมากที่สุด คือ มะเร็งเต้านม มะเร็งตับและท่อน้ำดี มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งปอด และมะเร็งปากมดลูก
จากข้อมูลดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่า สิทธิประโยชน์การรักษาโรคมะเร็งในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ทำให้มีผู้ป่วยมะเร็งเข้าถึงการรักษาได้อย่างต่อเนื่อง ช่วยยับยั้งภาวะลุกลามของมะเร็ง และลดอัตราการเสียชีวิตลงได้ โดยเฉพาะมะเร็งบางประเภทที่สามารถรักษาให้หายขาดได้ในระยะเริ่มต้น
ผลสำเร็จที่เกิดขึ้นนั้น มาจากความร่วมมือร่วมใจของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคมะเร็ง และหน่วยบริการทั่วประเทศที่ดูแลรักษาผู้ป่วย รวมทั้งยังมาจากการบริหารจัดการด้านยาในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่ทำให้มียารักษามะเร็งราคาแพงไว้บริการผู้ป่วย เช่น ยาเลโทรโซล (Letrozole) ยาโดซีแทคเซล (Docetaxel) และยาทราสทูซูแมบ (Trastuzumab) เป็นต้น
ในปีนี้ รัฐบาลยังคงดูแลสิทธิประโยชน์ในการรักษาโรคมะเร็งแก่ผู้ป่วย เพื่อให้ทุกคนเข้าถึงบริการได้อย่างต่อเนื่อง และยังได้เพิ่มสิทธิประโยชน์ด้านการคัดกรองและตรวจวินิจฉัยยืนยันมะเร็งลำไส้ใหญ่ให้กับผู้ที่มีอายุ 50 – 70 ปี เพื่อเร่งรักษาให้หายขาดหากพบโรคในระยะแรกเริ่มอีกด้วย อย่างไรก็ตาม เราทุกคนควรใส่ใจดูแลรักษาสุขภาพของตนเอง กินอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ และพักผ่อนให้เพียงพอ เมื่อมีอาการเจ็บป่วยให้รีบไปพบแพทย์ เพื่อรักษาให้ทันท่วงที สมกับคำกล่าวที่ว่า “การไม่มีโรคเป็นลาภอันประเสริฐ”
ที่มา : ไทยคู่ฟ้า