วุฒิสภา ไฟเขียว! ผ่านร่างกฎหมาย “ฉีดไข่ฝ่อ” ป้องกันการกระทำผิดทางเพศซ้ำซาก เตรียมแจ้ง ครม. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการต่อไป

296

วุฒิสภา ไฟเขียว! ผ่านร่างกฎหมาย “ฉีดไข่ฝ่อ” ป้องกันการกระทำผิดทางเพศซ้ำซาก เตรียมแจ้ง ครม. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการต่อไป

เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2565 ที่ประชุมวุฒิสภา ลงมติในวาระที่ 3 ร่างพระราชบัญญัติมาตรการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำในความผิดเกี่ยวกับเพศหรือที่ใช้ความรุนแรง พ.ศ. …. เห็นชอบให้แก้ไขเพิ่มเติม ด้วยคะแนนเสียง เห็นด้วย 143 เสียง ไม่เห็นด้วย ไม่มี งดออกเสียง 2 เสียง และเห็นด้วยกับข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการฯ เพื่อแจ้งไปยังคณะรัฐมนตรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการต่อไป

สำหรับร่าง พ.ร.บ.มาตรการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำในความผิดเกี่ยวกับเพศหรือที่ใช้ความรุนแรง พ.ศ. …. มีจำนวน 43 มาตรา กมธ.ฯ แก้ไข 12 มาตรา โดยมีสาระสำคัญ คือ การเพิ่มมาตรการติดตามผู้กระทำความผิดทางอาญาเกี่ยวกับเพศหรือการใช้ความรุนแรง เช่น การฆาตกรรม การข่มขืนกระทำชำเรา ความผิดทางเพศเกี่ยวกับเด็ก การทำร้ายผู้อื่นจนถึงแก่ความตาย โดยกำหนดให้มีทั้งมาตรการแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำความผิด มาตรการเฝ้าระวังภายหลังพ้นโทษ มาตรการคุมขังภายหลังพ้นโทษ และมาตรการคุมขังฉุกเฉิน ป้องกันการกระทำความผิดซ้ำที่อาจเกิดขึ้นอีก เนื่องจากมีกลุ่มผู้กระทำผิดที่ถูกจำคุกและพ้นกำหนดโทษ โดยได้รับการปล่อยตัวสู่สังคมแล้ว แต่มีผู้กระทำความผิดส่วนหนึ่งที่มีแนวโน้มทำผิดซ้ำในรูปแบบเดิมอีก จึงต้องมีกฎหมายเฉพาะเพื่อกำหนดมาตรการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำ

ทั้งนี้ ในส่วนมาตรการแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำผิด จะมีมาตรการทางการแพทย์สามารถให้ยากดฮอร์โมนเพศชาย (ฉีดให้ฝ่อ) แก่ผู้กระทำผิด หากเห็นว่า มีความจำเป็นต้องใช้ โดยมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตเวช และอายุรศาสตร์อย่างน้อย 2 คน เห็นพ้องกันและได้รับความยินยอมจากผู้กระทำผิด และให้นำผลการใช้มาตรการทางการแพทย์ดังกล่าว เป็นเงื่อนไขพิจารณาลดโทษ พักการลงโทษ หรือให้ผู้กระทำผิดได้รับการปล่อยตัวก่อนกำหนดได้

ทั้งนี้ ที่ประชุม ส.ว.มีการอภิปรายร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะ มาตรา 21 เรื่องมาตรการทางการแพทย์ที่เปิดช่องให้มีการฉีดยาลดฮอร์โมนเพศแก่ผู้กระทำผิด  ส.ว.ให้ความสนใจอภิปรายหลายคน ส่วนใหญ่เห็นด้วยในหลักการ แต่สงสัยหลายประเด็นว่าสามารถปฏิบัติได้จริงหรือไม่ เช่น ผู้กระทำผิดจะยินยอมให้ฉีดหรือไม่ ขณะที่มาตรการดังกล่าวไม่มีกฎหมายรองรับ อาจต้องให้แพทยสภาออกหลักการไว้ก่อน