สมาคมจิตแพทย์ เผย “โรคดึงผม” พบได้ค่อนข้างบ่อย ชี้ควรมาพบจิตแพทย์ รีบรักษาก่อนจะเรื้อรัง

1526

สมาคมจิตแพทย์ เผย “โรคดึงผม” พบได้ค่อนข้างบ่อย ชี้ควรมาพบจิตแพทย์ รีบรักษาก่อนจะเรื้อรัง

เฟซบุ๊ก “สมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย” โพสต์เรื่อง โรคดึงผมตัวเองหรือในภาษาอังกฤษคือ trichotillomania หรือ hair-pulling disorder เป็นภาวะที่ผู้ป่วยจะมีพฤติกรรมถอนผม (หรือขน) ของตัวเองซ้ำๆ จนทำให้ผมแหว่งหรือล้านเป็นหย่อมๆ โรคนี้พบได้พอสมควร เพียงแต่ไม่ค่อยเป็นที่รู้จักในบ้านเรา ทำให้ผู้ป่วยจำนวนมากไม่ได้มาพบแพทย์

> พบได้บ่อยแค่ไหน

โรคดึงผมตัวเอง พบได้ประมาณ 1-2% ในประชากรทั่วไป ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะอยู่ในช่วงวัยรุ่นจนถึงวัยผู้ใหญ่ และผู้หญิงเป็นมากกว่าผู้ชาย

> อาการ

อาการหลักของโรคนี้ก็เป็นไปตามชื่อโรคนั่นแหละ นั่นคือผู้ป่วยจะมีพฤติกรรมการดึงผม (หรืออาจจะเป็นขนก็ได้) ตัวเองซ้ำๆ โดยการดึงแต่ละครั้งมักทำไม่นาน ไม่ได้ดึงติดต่อกันเป็นชั่วโมง แต่ทำบ่อยๆ เป็นพักๆ ไปเรื่อยๆ ทั้งวัน ซึ่งผลของการดึงผมตัวเองนี้ทำให้เกิดผมแหว่งหายไปเป็นหย่อมๆ ในรายที่อาการเป็นมากและทำมานานบริเวณผมที่หายไปอาจจะใหญ่มากจนเหมือนหัวล้านได้

> ลักษณะของการดึงผมของผู้ป่วยนั้นสามารถแบ่งได้เป็นสองแบบคือ

1) ดึงโดยรู้ตัว ในกรณีนี้ผู้ป่วยจะรู้ตัวและจดจ่อกับการดึงผมตัวเอง โดยก่อนที่จะดึงอาจมีความเครียดหรือกังวลนำมาก่อน และเมื่อดึงแล้วก็จะรู้สึกผ่อนคลายหรือฟิน อะไรทำนองนั้น ในบางคนสิ่งกระตุ้นอาจเป็นความรู้สึกคัน หรือแปล๊บๆ บริเวณนั้น ทำให้อยากจะถอนผม ซึ่งเมื่อถอนแล้วก็รู้สึกดีขึ้น

2) ดึงโดยไม่รู้ตัว ซึ่งกรณีนี้การดึงเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ เช่น ดูทีวีอยู่แล้วก็เผลอเอามือไปดึงออกเอง โดยส่วนใหญ่แล้วพบว่าผู้ป่วยมักจะมีพฤติกรรมการดึงทั้งสองแบบผสมกัน

> ตำแหน่งของการดึงผมหรือขนที่พบได้บ่อยที่สุด

ก็คือการดึงผมนั่นเอง ส่วนการดึงขนบริเวณอื่นๆ ที่พบได้บ้างได้แก่ ขนคิ้ว ขนตา ขนที่แขนขา หรือขนบริเวณอวัยวะเพศ

> ผลกระทบ

โรคดึงผมนี้มักส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน และอาจทำให้เกิดความเครียดหรือโรคซึมเศร้าตามมาได้ ผู้ป่วยมักต้องใช้วิธีต่างๆ เพื่อปิดบังผมที่แหว่ง เช่น ต้องรวบผมเพื่อให้บังบริเวณที่หายไป หรือในรายที่เป็นมากอาจต้องใส่วิกหรือใส่หมวกเวลาออกไปข้างนอก เป็นต้น

> การดำเนินโรค

อาการมักเริ่มเป็นในช่วงวัยรุ่น และเป็นเรื้อรังต่อเนื่องไปเรื่อยๆ หากไม่ได้รับการรักษา โดยอาการมักเป็นๆ หายๆ เป็นพักๆ ขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ เช่น ความเครียด ความกังวล หรือในผู้หญิงอาการอาจเป็นเยอะขึ้นช่วงมีประจำเดือน เป็นต้น

> การรักษา

ปัญหาสำคัญอย่างแรกสำหรับในบ้านเราน่าจะเป็นการที่ผู้ป่วยไม่มารับการรักษา ซึ่งคาดว่าเกิดจากความไม่รู้ว่ามีโรคแบบนี้อยู่และสามารถรักษาได้

ผู้ป่วยที่มารักษาส่วนใหญ่มักไปพบกับแพทย์ทางด้านโรคผิวหนังมากกว่า จากนั้นจึงถูกส่งต่อมารักษากับจิตแพทย์อีกที ผู้ป่วยที่มาพบจิตแพทย์เองโดยตรงแต่แรกมีน้อยมาก

การรักษาโรคนี้ถือว่าได้ผลดีพอสมควร โดยพฤติกรรมการดึงผมส่วนใหญ่จะลดลงและทำให้รอยโรคกลับมาใกล้เคียงปกติได้

การรักษาด้วยยาพบว่ายาในกลุ่มยา selective serotonin reuptake inhibitor (SSRI) และ clomipramine สามารถช่วยให้อาการดึงผมลดลงได้ นอกจากนี้การรักษาด้วยการพฤติกรรมบำบัดพบว่าได้ผลดีเช่นกัน และการใช้ทั้งสองวิธีร่วมกันจะได้ผลดีที่สุด

ดังนั้นใครเป็นอยู่ (หลายคนมีโรคอื่นร่วมด้วย เช่น โรควิตกกังวล โรคซึมเศร้า) ก็ให้รีบมารักษา