กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เผย “วัคซีนฝีดาษ” ขององการเภสัชฯ ที่เก็บมากว่า 40 ปี ยังมีคุณภาพตามมาตรฐาน สามารถนำมาใช้ในการป้องกันฝีดาษลิงได้
วันที่ 22 ก.ค. 65 นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และ ดร.สุภาพร ภูมิอมร ผู้อำนวยการสถาบันชีววัตถุ แถลงผลการตรวจสอบคุณภาพวัคซีนโรคฝีดาษคน (smallpox) ที่องค์การเภสัชกรรม (อภ.) ผลิตและเก็บแช่แข็งไว้นานกว่า 40 ปี จำนวน 13 ล็อต ว่า หลังจากที่องค์การอนามัยโลกหรือฮู(WHO)ได้ประกาศความสำเร็จในการกวาดล้างโรคฝีดาษไปจากโลกแล้วตั้งแต่ปี พ.ศ.2523 การให้วัคซีนเพื่อป้องกันโรคฝีดาษในคนจึงได้หยุดไป แต่เนื่องจากพบการระบาดอีกครั้งของโรคผีดาษวานรในต่างประเทศ ทำให้ประเทศไทยต้องเฝ้าระวังโรคนี้อย่างใกล้ชิดและเตรียมการรองรับ ซึ่งพบว่ามีวัคชีนฝีดาษคนที่องค์การเภสัชกรรม(อภ.)ผลิตเก็บไว้นานกว่า 40 ปี
ผลการตรวจสอบ พบว่า วัคซีนโรคฝีดาษ จำนวน 13 รุ่นการผลิต ยังคงมีลักษณะทางกายภาพที่ดี ลักษณะเป็นผงแห้งจับตัวเป็นก้อนสีเหลืองอ่อน นำมาละลายด้วยน้ำกลั่น กลายเป็นใสสีเหลืองอ่อน มีความเป็นกรด-ด่าง อยู่ในช่วงค่า pH 7.38- 7.52 (มาตรฐานทั่วไป pH 6.0-8.0) ปริมาณสารก่อไข้ อยู่ระหว่าง 4.20- 31.1 EU/ml (มาตรฐานทั่วไป ไม่เกิน 200 EU/mI) ไม่พบการปนเปื้อนของเชื้อจุลินทรีย์ทั้งเชื้อรา แบคทีเรีย ผลตรวจสอบความเป็นเอกลักษณ์ พบว่า เป็นไวรัสในกลุ่มไวรัสฝีดาษ Orthopoxvirus และวัคชีนมีค่าความแรง อยู่ระหว่าง 6.42- 6.86 LogTCIDso/ml (มาตรฐานองค์การอนามัยโลกกำหนด ต้องมากกว่าหรือเท่ากับ 5.4 Log TCIDs/ml)
“สรุปว่าวัคซีนฝีดาษจาก อภ. จำนวน 13 รุ่น ยังคงมีคุณภาพตามมาตรฐานวัคชีนไวรัสทั่วไปและยังคงมีคุณค่า หากเกิดการระบาดขึ้นในประเทศ และไม่สามารถจัดหาวัคซีนฝีดาษมาใช้ได้ในสถานการณ์ที่มีการระบาดไปทั่วโลก วัคซีนฝีดาษที่มีอยู่นี้น่าจะนำมาใช้ในการป้องกันโรคฝีดาษวานรได้ อย่างไรก็ตาม การที่จะนำมาใช้ได้ในสภาวะฉุกเฉินนั้น จะต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในการพิจารณาถึงประโยชน์ และความเสี่ยงที่จะได้รับรวมถึงวัคซีนทางเลือกที่มี ทั้งนี้เพื่อความปลอดภัยสำหรับผู้ได้รับวัคซีน” นพ.ศุภกิจ กล่าว