กรมการแพทย์เตือน ภาวะตาปิดเกร็ง หนังตากระตุก อาจไม่ใช่ลางบอกเหตุ แต่เป็นสัญญาณเตือนเรื่องสุขภาพ

3443

กรมการแพทย์ โดยสถาบันประสาทวิทยา เผยภาวะตาปิดเกร็ง หนังตากระตุก หลายคนมักคิดว่าเป็นลางบอกเหตุ อาจสร้างความรำคาญได้ แท้จริงแล้วเป็นสัญญาณบอกโรค หมั่นสังเกตอาการ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับการรักษา

นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า Blepharospasm หรือภาวะตาปืดเกร็ง เป็นส่วนหนึ่งของอาการ focal dystonia ซึ่งเป็นภาวะความผิดปกติที่เกิดจากอาการเกร็งของกล้ามเนื้อดวงตา มักพบในผู้ป่วยเพศหญิงมากกว่าเพศชาย และช่วงอายุที่พบบ่อยคือ ช่วงอายุประมาณ 40-60 ปี มักเกิดขึ้นพร้อมกันทั้ง 2 ตา อาการเริ่มต้นของภาวะนี้คือ มีกระพริบตาบ่อยครั้ง ผู้ป่วยมักให้ประวัติว่ารู้สึกเคืองตาแสบตา จากนั้นจะเริ่มมีอาการเกร็งหรือรู้สึกดึงรั้ง หรือแน่นรอบดวงตาโดยเกิดขึ้นทั้งด้านบนและด้านล่าง ทำให้มีความลำบากในการลืมตา ตาเริ่มหรี่แคบลงจนถึงตาเปิดไม่ได้ชั่วขณะ อาการจะเป็นๆหายๆ โดยระยะเวลาที่เกิดเป็นวินาทีถึงหลายนาทีได้ การโดนแสงแดดหรือไฟสว่างจ้า ความเครียดวิตกกังวล มักกระตุ้นให้เกิดอาการมากขึ้น ผู้ป่วยอาจมี sensory trick หรือการบรรเทาอาการจากการสัมผัสเบาๆที่บริเวณอื่น เช่น หางตาหรือแก้มแล้วทำให้กล้ามเนื้อรอบดวงตาคลายตัว พบได้ในระยะแรกของโรค จากนั้นอาการจะค่อยๆหายไป ผู้ป่วยควรมาพบแพทย์ประเมินหาสาเหตุ เพื่อการรักษาที่ถูกต้องต่อไป

นายแพทย์ธนินทร์ เวชชาภินันท์ ผู้อำนวยการสถาบันประสาทวิทยา กล่าวเพิ่มเติมว่า ผู้ป่วยจะมีอาการ ภาวะอื่นที่อาจมีอาการคล้าย Blepharospasm เช่น หนังตาตกจากกล้ามเนื้ออ่อนแรง หรืออาการที่ไม่สามารถเปิดตาได้จากสมองส่วนกลาง หรือใบหน้ากระตุกครึ่งซีก เป็นต้น การแยกโรคต้องอาศัยแพทย์ในการตรวจวินิจฉัย นอกจากนี้ Blepharospasm อาจเป็นส่วนหนึ่งของอาการเกร็งของใบหน้าคือ พบร่วมกับอาการเกร็งบริเวณปาก หรือในบางรายอาการเกร็งอาจลามถึงบริเวณคอหรือทั้งร่างกาย การรักษาด้วยการรับประทานยาไม่ค่อยได้ประสิทธิภาพ ผู้ป่วยอาจได้รับผลข้างเคียงจากยาลดอาการเกร็ง เช่น ง่วงนอน ปากคอแห้ง อาการสับสน เป็นต้น ในปัจจุบันการรักษาจึงเน้นยา ที่ออกฤทธิ์เฉพาะที่และไม่มีผลข้างเคียง การฉีดยาโบทูลินัมจึงเป็นการรักษาที่ใช้ในผู้ป่วยเพื่อลดอาการเกร็งรอบดวงตา ได้นาน 3-6 เดือนต่อการฉีด 1 ครั้ง ซึ่งมีผลข้างเคียงค่อนข้างน้อยและหายได้เองเมื่อยาหมดฤทธิ์ อย่างไรก็ตามการฉีดโบทูลินัมไม่ได้ทำให้หายขาดจากโรคเป็นเพียงการรักษาตามอาการเท่านั้น ผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้นที่ทำให้อาการแย่ลง หลีกเลี่ยงการขับรถหากยังคุมอาการได้ไม่ดีพอ และเฝ้าระวังอาการทางระบบประสาทอื่นๆด้วย