สธ.เผยโควิดสายพันธุ์ BA.4/BA.5 แพร่เร็วกว่าและมีแนวโน้มความรุนแรงมากกว่า BA.2 รวมถึงมีความสามารถในการหลบภูมิคุ้มกันจากวัคซีน 3 เข็ม ได้ดีกว่า BA.2 ทำให้ติดเชื้อซ้ำได้ แนะประชาชนฉีดเข็มกระตุ้น
วันที่ 25 กรกฎาคม 2565 ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แถลงสถานการณ์การเฝ้าระวังสายพันธุ์โควิด 19 และการติดตามภูมิคุ้มกันของคนที่ได้รับวัคซีนเข็ม 3 ต่อ BA.5 ว่า ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา (16-22 กรกฎาคม 2565) ได้ตรวจเฝ้าระวังสายพันธุ์โควิด 19 จำนวน 468 ราย พบเป็นสายพันธุ์ BA.4/BA.5 มากสุดจำนวน 320 ราย คิดเป็น 68.38% ส่วนสายพันธุ์ BA.2 พบ 143 ราย คิดเป็น 30.56% และสายพันธุ์ BA.1 อีก 5 ราย คิดเป็น 1.07% โดยใน กทม.พบ BA.4/BA.5 80% มากกว่าภูมิภาคที่พบ 60% แสดงว่า BA.4/BA.5 แพร่เร็วกว่า BA.1 และ BA.2 สอดคล้องกับสถานการณ์ที่มีผู้ติดเชื้อมากขึ้น ซึ่งเมื่อถอดรหัสพันธุกรรมพบว่าเป็น BA.5 ประมาณ 75% และ BA.4 ประมาณ 25%
นพ.ศุภกิจกล่าวว่า ส่วนความรุนแรง จากการเปรียบเทียบกลุ่มอาการไม่รุนแรงและรุนแรงในช่วงดังกล่าว พบว่า ในพื้นที่ กทม. ผู้ป่วยอาการไม่รุนแรง 122 ราย พบเป็น BA.4/BA.5 77.05% กลุ่มอาการรุนแรงพบ 87.04% พื้นที่ต่างจังหวัด กลุ่มอาการไม่รุนแรง 345 ราย พบ 55.61% กลุ่มรุนแรง 53 ราย พบ 73% หากพิจารณาข้อมูลตั้งแต่วันที่ 2-22 กรกฎาคม 2565 พบว่า พื้นที่ กทม. ผู้ป่วยอาการไม่รุนแรง 475 ราย พบเป็น BA.4/BA.5 76% อาการรุนแรง 101 ราย พบ 78.22% และภูมิภาค อาการไม่รุนแรง 774 คน พบ 41.99% อาการรุนแรง 137 ราย พบ 59.12% ซึ่งจากการพบสัดส่วนของ BA.4/BA.5 ในผู้ป่วยอาการรุนแรงสูงกว่า จึงอนุมานได้ว่าถ้าติดเชื้อ BA.4/BA.5 น่าจะมีโอกาสเกิดอาการรุนแรงมากกว่า
สำหรับสายพันธุ์ BA.2.75 ตำแหน่งที่กลายพันธุ์ คือ G446S และ Q493R ทำให้จับกับเซลล์ปอดมนุษย์ได้มากขึ้น จึงทำให้น่าเป็นห่วงว่าจะแพร่ค่อนข้างเร็วหรือหลบภูมิคุ้มกันได้ อาจติดเชื้อซ้ำหรือทำให้วัคซีนมีประสิทธิผลลดลง แต่ทั้งหมดเป็นการดูจากตำแหน่งที่กลายพันธุ์ ต้องติดตามข้อมูลที่เกิดขึ้นจริงต่อไป โดยขณะนี้ยังไม่สามารถตรวจสายพันธุ์ BA.2.75 ได้ในพื้นที่ ต้องใช้การถอดรหัสพันธุกรรมทั้งตัว ดังนั้น หากพบสายพันธุ์ที่ไม่เข้ากับ BA.2 BA.4 BA.5 จะต้องส่งมาถอดรหัสพันธุกรรมทั้งตัว แต่ประมาณสัปดาห์หน้าจะผลิตน้ำยาตรวจเฉพาะ BA.2.75 เพื่อให้พื้นที่ตรวจเบื้องต้นได้เร็วขึ้น
นพ.ศุภกิจ กล่าวต่อว่า กรมฯ ได้ศึกษาภูมิคุ้มกันของคนที่ได้รับวัคซีนโควิด 19 เข็ม 3 ต่อสายพันธุ์ย่อยโอมิครอน BA.5 ตามวิธีมาตรฐาน โดยเพาะเชื้อแล้วนำมาทดสอบกับภูมิคุ้มกันในน้ำเลือดของคนที่ฉีดวัคซีน 3 เข็มหลัง 2 สัปดาห์ โดยวิธี Plaque Reduction Neutralization Test (PRNT) ในห้องแล็บความปลอดภัยระดับ 3 พบว่า สูตรซิโนแวค 2 เข็ม ตามด้วย แอสตร้าเซนเนก้า ภูมิคุ้มกันต่อ BA.2 ที่ 203.5 เมื่อเป็น BA.5 ลดลงเหลือ 89.79 สูตรซิโนแวค 2 เข็ม ตามด้วย ไฟเซอร์ ภูมิคุ้มกันต่อ BA.2 ที่ 345.8 เมื่อเป็น BA.5 ลดลงเหลือ 153.8 สูตรแอสตร้าเซนเนก้า 2 เข็ม ตามด้วย ไฟเซอร์ ภูมิคุ้มกันต่อ BA.2 ที่ 226.2 เมื่อเป็น BA.5 ลดลงเหลือ 86.51 และสูตรซิโนแวค ตามด้วยแอสตร้าเซนเนก้า 2 เข็ม ภูมิคุ้มกันต่อ BA.2 ที่ 84.60 เมื่อเป็น BA.5 ลดลงเหลือ 43.60 ซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัยในต่างประเทศ ที่พบว่าหลังติดเชื้อ BA.1 BA.2 ประมาณ 2 สัปดาห์ และ 4 สัปดาห์ เมื่อเป็นเชื้อ BA.4/BA.5 ภูมิคุ้มกันจะลดลงประมาณ 3 เท่า จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมจึงติดเชื้อซ้ำได้ แต่แม้สายพันธุ์ BA.5 จะหลบภูมิคุ้มกันจากวัคซีนได้ดีกว่า BA.2 แต่ยังป้องกันโรคได้พอสมควร จึงขอให้ผู้ที่ฉีดวัคซีนเข็ม 2 หรือเข็ม 3 นานแล้วมารับเข็มกระตุ้น เนื่องจากวัคซีนทุกสูตรเมื่อผ่านไป 3-4 เดือน ภูมิคุ้มกันจะลดลง ร่วมกับการใช้มาตรการป้องกันตนเอง Universal Prevention ด้วยการใส่หน้ากาก ล้างมือ เว้นระยะห่าง จะช่วยลดโอกาสรับและแพร่เชื้อได้