ไทยเนื้อหอม 6 เดือนแรกปี 2565 ต่างชาติแห่ลงทุน 69,949 ล้านบาท จ้างงานคนไทยรวมกว่า 3,164 คน
นายสินิตย์ เลิศไกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่าอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า (นายทศพล ทังสุบุตร) ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว รายงานให้ทราบว่า ภายใต้พระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 ช่วง 6 เดือนแรก (ม.ค. – มิ.ย.) ของปี 2565 มีการอนุญาตให้คนต่างชาติเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจในประเทศไทย จำนวน 284 ราย โดยเป็นการลงทุนผ่านช่องทาง การขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว และการขอหนังสือรับรองการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว แบ่งเป็น ใบอนุญาตประกอบธุรกิจ จำนวน 106 ราย และหนังสือรับรองประกอบธุรกิจ จำนวน 178 ราย โดยมีเม็ดเงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 69,949 ล้านบาท จ้างงานคนไทยกว่า 3,164 คน ชาวต่างชาติที่เข้ามาลงทุนมากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ญี่ปุ่น 71 ราย (ร้อยละ 25) เงินลงทุน 26,237 ล้านบาท สิงคโปร์ 51 ราย (ร้อยละ 18) เงินลงทุน 10,478 ล้านบาท และ สหรัฐอเมริกา 35 ราย (ร้อยละ 12) เงินลงทุน 2,899 ล้านบาท เงินลงทุนรวม 39,614 ล้านบาท
เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2564 (มกราคม – มิถุนายน) พบว่า การอนุญาตให้คนต่างชาติเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจในประเทศไทย เพิ่มขึ้น 20 ราย คิดเป็นร้อยละ 7.58 (ปี 2565 อนุญาตฯ 284 ราย ปี 2564 อนุญาต 264 ราย) เม็ดเงินลงทุนเพิ่มขึ้น 29,628 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 73.48 (ปี 2565 ทุน 69,949 ล้านบาท ปี 2564 ทุน 40,321 ล้านบาท) และจ้างงานคนไทยเพิ่มขึ้น 2,073 ราย คิดเป็นร้อยละ 190 (ปี 2565 จ้างงาน 3,164 คน ปี 2564 จ้างงาน 1,091 คน) โดยปี 2564 ชาวต่างชาติที่เข้ามาลงทุนสูงสุด คือ ญี่ปุ่น สิงคโปร์ และ สหรัฐอเมริกา เช่นเดียวกับปี 2565
6 เดือนแรก (ม.ค. – มิ.ย.) ปี 2565 ธุรกิจที่ได้รับอนุญาตส่วนใหญ่เป็นธุรกิจที่สอดคล้องกับนโยบายส่งเสริมการลงทุนของภาครัฐ และสนับสนุนธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ อาทิ
* บริการให้ใช้แพลตฟอร์มแอปพลิเคชันและเว็บไซต์ สำหรับการขนส่งผู้โดยสารและสินค้า รวมทั้งสำหรับการสั่งซื้อสินค้าและบริการ
* บริการสถานีอัดประจุไฟฟ้า (Electric Vehicle Charging Station) สำหรับรถยนต์ที่ใช้พลังงานไฟฟ้า
* บริการทางวิศวกรรมและเทคนิค เช่น การให้คำปรึกษาเชิงเทคนิคแบบครบวงจรในการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ การช่วยเหลือด้านการออกแบบ การพัฒนา และทดสอบระบบ เป็นต้น
* บริการขุดเจาะปิโตรเลียม ภายในบริเวณพื้นที่แปลงสำรวจที่ได้รับสัมปทานในอ่าวไทย
การลงทุนในพื้นที่ EEC ของนักลงทุนต่างชาติ 6 เดือนแรก (ม.ค. – มิ.ย.) ปี 2565 มีนักลงทุนต่างชาติสนใจลงทุนในพื้นที่ EEC จำนวน 55 ราย คิดเป็นร้อยละ 19 ของจำนวนนักลงทุนทั้งหมดใน 6 เดือนนี้ โดยมีเงินลงทุนในพื้นที่ EEC กว่า 29,461 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 42 ของเงินลงทุนทั้งหมด ทั้งนี้ เป็นนักลงทุนจากประเทศญี่ปุ่น 24 ราย เงินลงทุน 18,480 ล้านบาท สิงคโปร์ 6 ราย เงินลงทุน 1,792 ล้านบาท และ สหรัฐอเมริกา 4 ราย เงินลงทุน 996 ล้านบาท ธุรกิจที่ลงทุน อาทิ 1) บริการตรวจสอบและวิเคราะห์สภาพการทำงานของเครื่องจักรชนิดหมุน โดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Services) ด้วยระบบคลาวด์ (Cloud) และเทคโนโลยีเซ็นเซอร์ (Sensor Technology) 2) บริการประกอบและติดตั้งชิ้นส่วนและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องจักร เครื่องมือและอุปกรณ์ที่ใช้สำหรับการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และ 3) บริการรับจ้างผลิตชิ้นส่วนสำหรับอุปกรณ์โทรคมนาคม เป็นต้น
คาดว่าอีก 6 เดือนที่เหลือ (ก.ค. – ธ.ค.) ของปี 2565 จะมีนักลงทุนต่างชาติเข้ามาประกอบธุรกิจในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง เป็นผลมาจากภาครัฐมีมาตรการส่งเสริมการลงทุน กระตุ้นเศรษฐกิจโดยผ่อนคลายการเปิดประเทศ และเพิ่มการอำนวยความสะดวกให้แก่นักลงทุน ส่งผลให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในประเทศเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยเสริมให้เศรษฐกิจของไทยฟื้นตัวได้เร็วขึ้น
ทั้งนี้ เฉพาะเดือนมิถุนายน 2565 มีการอนุญาตให้คนต่างชาติ 47 ราย ประกอบธุรกิจในประเทศไทย โดยเป็นการลงทุนผ่านช่องทางการขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว และการขอหนังสือรับรองการประกอบธุรกิจของ คนต่างด้าว แบ่งเป็น ใบอนุญาตประกอบธุรกิจ จำนวน 16 ราย และหนังสือรับรองประกอบธุรกิจ จำนวน 31 ราย เม็ดเงินลงทุนทั้งสิ้น 14,872 ล้านบาท เกิดการจ้างงานคนไทยกว่า 142 คน ส่วนใหญ่เป็นคนต่างชาติจากประเทศญี่ปุ่น สิงคโปร์ และสหรัฐอเมริกา รวมถึงมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีอันเป็นองค์ความรู้เฉพาะด้านโดยตรงจากประเทศผู้เข้ามาลงทุนให้แก่คนไทย เช่น องค์ความรู้เกี่ยวกับการบริหารจัดการด้านวิศวกรรม องค์ความรู้เกี่ยวกับการควบคุมการทำงาน การดูแลรักษาเครื่องจักร และระบบควบคุมการผลิตเม็ดโพลีเอสเตอร์ องค์ความรู้เกี่ยวกับวิธีการจัดเก็บรักษาผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรในห้องเย็นภายใต้อุณหภูมิที่เหมาะสม และองค์ความรู้เกี่ยวกับการสร้างแบบจำลองสถาปัตยกรรม 3 มิติ เป็นต้น