“อนุทิน” เผยภูมิคุ้มกันโควิดสำเร็จรูป LAAB จำนวน 7 พันโดสแรกถึงไทยแล้ว เริ่มฉีดให้ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังวันนี้เป็นวันแรก

469

“อนุทิน” เผยภูมิคุ้มกันโควิดสำเร็จรูป LAAB จำนวน 7 พันโดสแรกถึงไทยแล้ว เริ่มฉีดให้ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังวันนี้เป็นวันแรก

วันที่ 27 กรกฎาคม 2565 เวลา 09.00 น. ที่สถาบันบำราศนราดูร จ.นนทบุรี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานการจัดนำร่องฉีดภูมิคุ้มกันสำเร็จรูปหรือ Long Acting Antibody (LAAB) ในการป้องกันโควิด 19 สำหรับผู้ป่วยที่มีปัญหาเรื่องระบบภูมิคุ้มกัน เป็นวันแรก โดยมี นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และ นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค เข้าร่วม

b3ef75f74604c0f2cb87a8200eaaf905.jpg นายอนุทินกล่าวว่า จากการคาดประมาณ ประเทศไทยมีจำนวนผู้ป่วยที่มีภาวะภูมิคุ้มกันร่างกายต่ำ จำนวนกว่า 500,000 ราย ขณะนี้ภูมิคุ้มกันสำเร็จรูปหรือ Long Acting Antibody (LAAB) ในการป้องกันโควิด 19 สำหรับผู้ป่วยที่มีปัญหาเรื่องระบบภูมิคุ้มกัน ลอตแรกจำนวน 7 พันโดสเข้ามาถึงประเทศไทยแล้วเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคมที่ผ่านมา จากที่สั่งซื้อไป 2.5 แสนโดส ซึ่งที่เหลือจะทยอยจัดส่งเข้ามาจนครบภายในปีนี้ สำหรับลอตแรกจะกระจายไปยังจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ เพื่อฉีดให้ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังที่ได้รับการฟอกไต ผู้ที่ได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะหรือไขกระดูกที่ได้รับยากดภูมิ ตามข้อมูลผู้ป่วยที่มีการรวบรวมจัดส่งเข้ามา ซึ่งแต่ละจังหวัดจะดำเนินการกระจายต่อไปยังโรงพยาบาลต่างๆ ให้สามารถเข้ารับบริการได้สะดวกที่สุด

1dfd40e965c981539b8288a1d9af93fa.jpg

“ยืนยันว่าบุคลากรทางการแพทย์มีความพร้อมในการใช้ภูมิคุ้มกันตามข้อบ่งชี้ เนื่องจากได้รับการอบรมทำความเข้าใจให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันแล้ว และได้ขอความร่วมมือจากบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขทุกท่านให้บริหารจัดการการฉีด LAAB โดยพิจารณาการฉีดให้เป็นไปด้วยความเสมอภาค และประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน รวมถึงสังเกตอาการภายหลังได้รับ LAAB ตามมาตรฐาน” นายอนุทินกล่าว

นายอนุทินกล่าวต่อว่า ส่วนวันนี้เป็นการนำร่องการให้ LAAB แก่ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังเป็นวันแรก เพื่อสร้างความมั่นใจ โดยภูมิคุ้มกัน LAAB จะมีแอนติบอดี 2 ชนิดบรรจุมา 2 ขวด โดยจะฉีดเข้าที่สะโพกของผู้ป่วยพร้อมกันทั้ง 2 ข้าง ซึ่งการฉีด 1 ครั้งประสิทธิผลในการป้องกันโควิดจะอยู่ได้ประมาณ 6 เดือน ยืนยันว่า LAAB มีความปลอดภัยและจะช่วยลดความเสี่ยงการติดเชื้อ อาการรุนแรง และการเสียชีวิตให้แก่ผู้ป่วยที่มีปัญหาระบบภูมิคุ้มกัน โดยกลุ่มเป้าหมายสามารถติดต่อเข้ารับการฉีด LAAB ได้ที่สถานพยาบาลตามที่คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด/กรุงเทพมหานครกําหนดไว้ ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2565 เป็นต้นไป นอกจากนี้ บริษัทผู้ผลิตอยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูลเพื่อขึ้นทะเบียนต่อ อย.ในการนำมาใช้ในการรักษาต่อไปด้วย

“สำหรับประชาชนทั่วไปย้ำว่า ขอให้เข้ามารับวัคซีนเข็มกระตุ้นตามกำหนด โดยสามารถฉีดได้ทุก 3-4 เดือน เพื่อเพิ่มภูมิคุ้มกันให้สามารถต่อสู้กับเชื้อโควิดได้ เนื่องจากขณะนี้ส่วนใหญ่เป็นสายพันธุ์ BA.4/BA.5 ซึ่งจากการศึกษาของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์พบว่า หลบภูมิคุ้มกันได้ดีกว่าสายพันธุ์ BA.2 จึงยังต้องมาฉีดวัคซีนร่วมกับการเข้มมาตรการป้องกันการติดเชื้อ คือ เว้นระยะห่าง ล้างมือ สวมหน้ากาก และตรวจ ATK เมื่อมีอาการหรือมีความเสี่ยง” นายอนุทินกล่าว

นพ.เกียรติภูมิกล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายการให้วัคซีนโควิด 19 เพื่อลดความรุนแรงและเสียชีวิตจากโควิด 19 เริ่มให้บริการตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2564 โดยกว่า 1 ปี 5 เดือนที่ผ่านมา บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขได้เร่งให้บริการวัคซีนโควิด 19 แก่ประชากรทุกกลุ่มเป้าหมาย ขณะนี้ฉีดวัคซีนแล้วกว่า 141 ล้านโดส แต่มีประชาชนบางกลุ่มที่มีภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ ทำให้ร่างกายไม่สามารถสร้างภูมิคุ้มกันได้ด้วยการฉีดวัคซีน เช่น กลุ่มผู้ป่วยฟอกไต กลุ่มผู้ป่วยเปลี่ยนถ่ายอวัยวะ ปลูกถ่ายไขกระดูก หรือกลุ่มภูมิคุ้มกันบกพร่อง เป็นต้น ส่งผลให้มีความเสี่ยงต่อการป่วยหนักหรือเสียชีวิตหากติดเชื้อโควิด 19 จึงได้จัดหาแอนติบอดีออกฤทธิ์ยาว LAAB เพื่อนำมาฉีดก่อนการสัมผัสโรคโควิดให้กับกลุ่มเป้าหมายดังกล่าว ขณะนี้อยู่ในระหว่างการจัดส่ง LAAB สู่ทุกพื้นที่เพื่อให้บริการได้โดยเร็วที่สุด