ชวนผู้มีภูมิคุ้มกันต่ำ ขอรับการฉีด “LAAB ภูมิคุ้มกันโควิดสำเร็จรูป” เพื่อเสริมภูมิคุ้มกันโควิด ได้ตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค. เป็นต้นไป
เมื่อวันที่ 31 ก.ค. 65 น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจําสํานักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ประชาชนผู้ที่มีภูมิคุ้มกันโรคโควิด-19 ต่ำหรือผู้ที่ได้รับวัคซีนแล้วร่างกายไม่สามารถสร้างภูมิคุ้มกันได้ สามารถติดต่อเข้ารับการฉีดภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป หรือ Long Acting Antibody (LAAB) ได้ที่สถานพยาบาล ซึ่งคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดกำหนด ทั่วประเทศ ตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค. 65 เป็นต้นไป พร้อมกันนี้ กระทรวงสาธารณสุข ยังได้ให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทุกจังหวัด ได้สำรวจเพื่อทำทะเบียนรายชื่อและจำนวนผู้ป่วยที่เข้าเกณฑ์การรับ LAAB ในแต่ละสถานพยาบาลทุกสังกัดเพื่อให้กลุ่มเป้าหมายได้รับภูมิคุ้มกันจาก LAAB อย่างทั่วถึง หลังจากที่กระทรวงสาธารณสุข รับมอบ LAAB ล็อตแรกแล้วจำนวน 7,000 โดส เมื่อวันที่ 25 ก.ค.ที่ผ่านมา จากที่สั่งซื้อไป 2.5 แสนโดส โดยที่เหลือจะทยอยจัดส่งเข้ามาจนครบภายในปีนี้
น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า รัฐบาลได้เริ่มฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ. 2564 เป็นต้นมา โดยมีการฉีดวัคซีนไปแล้วมากกว่า 140 ล้านโดส แต่ยังมีประชากรบางกลุ่มที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ หรือเมื่อได้รับวัคซีนแล้วร่างกายไม่สามารถสร้างภูมิคุ้มกันได้เพียงพอต่อการป้องกันโรค ไม่เพียงพอต่อการลดการป่วยหนักและเสียชีวิตได้ กระทรวงสาธารณสุข จึงได้จัดหา LAAB ซึ่งเป็นภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป สามารถออกฤทธิ์ลบล้างเชื้อไวรัสก่อโรคโควิด-19 ทั้งสายพันธุ์ดั้งเดิมและการกลายพันธุ์ในขณะนี้ได้ เพื่อให้กลุ่มผู้มีภูมิคุ้มกันต่ำและร่างกายไม่สามารถสร้างภูมิคุ้มกันได้ด้วยวัคซีน ให้ได้รับการปกป้องจากการเจ็บป่วยและเสียชีวิต
น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า LAAB เป็นภูมิคุ้มกันสำเร็จรูปที่แตกต่างจากวัคซีน โดยจะช่วยเสริมภูมิคุ้มกันในผู้ที่ตอบสนองต่อวัคซีนได้น้อยกว่าคนทั่วไป โดยมีกลุ่มเป้าหมายระยะแรก เช่น ผู้ป่วยไตวายระยะเรื้อรังที่ต้องได้รับการบำบัดทดแทนไต(ฟอกไต) ผู้ที่ได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะ ผู้ป่วยปลูกถ่ายไขกระดูก ทั้งนี้ กลุ่มดังกล่าว สามารถปรึกษาแพทย์เพื่อรับการพิจารณาในการเสริมภูมิคุ้มกันโควิดด้วย LAAB ได้
น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า เมื่อเริ่มเสริมภูมิคุ้มกันด้วย LAAB ในกลุ่มเป้าหมายระยะแรกแล้ว กระทรวงสาธารณสุข จะเร่งพิจารณา เพิ่มกลุ่มเป้าหมายอื่นต่อไป โดยจากการคาดประมาณจำนวนผู้ป่วยโรคที่มีภูมิคุ้มกันร่างกายต่ำ ในประเทศไทย อยู่ที่ 500,000 ราย ประกอบด้วย ผู้ป่วยมะเร็งที่อยู่ระหว่างการได้รับการรักษาด้วยเคมีบำบัด และฉายแสงประมาณ 200,000 ราย , ผู้ป่วยปลูกถ่ายอวัยวะที่ต้องได้รับยากดภูมิขนาดสูง ประมาณ 10,000 ราย , ผู้ป่วยโรคข้อที่ต้องรักษาด้วยการใช้ยากดภูมิ ประมาณ 10,000 ราย , ผู้ป่วยภูมิคุ้มกันต่ำอื่นๆ ประมาณ 80,000 ราย และผู้ป่วยไตวายประมาณ 200,000 ราย โดยรัฐบาลตั้งเป้าทุกรายจะต้องได้รับภูมิคุ้มกัน