เมื่อวันที่ 6 ส.ค. 65 เพจเฟซบุ๊ค “กฎหมายแรงงาน” ได้โพสต์ข้อความเกี่ยวกับการโพสต์อวดเงินเดือนลงในโซเชียล ระบุว่า
ตามที่เป็นข่าวว่า “หญิงรายนี้เริ่มจากโพสต์ภาพคู่ของตัวเองกับสามีลงโซเชียลมีเดีย พร้อมแคปชั่น “ได้รับการตามใจจากตู้เอทีเอ็มส่วนตัวของฉัน” ก่อนที่จะลงภาพหนังสือรับรองเงินเดือนของเขา พร้อมถามเป็นทำนองว่า เงินเดือนของสามีจะถูกจัดว่าเป็นสินสมรสด้วยไหมนะ…”
การที่นายจ้างจะเลิกจ้างลูกจ้างรายนี้ได้หรือไม่นั้นจะต้องพิจารณาจาก “ข้อเท็จจริง” และข้อกฎหมายประกอบ โดยจะขออธิบายเป็นข้อๆ ดังนี้
1. โดยปกตินายจ้างจะเขียนข้อสัญญาไว้ว่า “เงินเดือนและค่าตอบแทนถือเป็นความลับห้ามมิให้ลูกจ้างเปิดเผยเงินเดือน” หรืออาจเขียนว่า “รายละเอียดในสัญญาจ้างแรงงานให้ถือเป็นความลับ” (ซึ่งรายละเอียดในสัญญาจะมีเรื่องค่าจ้างอยู่ด้วย” นอกจากจะเขียนไว้ในสัญญาแล้ว อาจเขียนไว้ในระเบียบ คำสั่ง หรือข้อบังคับก็ได้ การไม่ปฎิบัติตามก็อาจเป็นการผิดสัญญา หรือระเบียบ หรือคำสั่ง หรือข้อบังคับได้รายละเอียดสัญญา ฝ่ายบุคคลที่มีหนังสือเล่มสีชมพู ลองเปิดศึกษารายละเอียดได้ มีการเขียนตัวอย่างข้อสัญญา และการอธิบายเอาไว้ให้แล้ว ดังนั้น ถ้าสามีจงใจเปิดเผยข้อมูลเงินเดือน ซึ่งอาจทำให้เกิดความยุ่งยากในการบริหารงาน แตกความสามัคคี นายจ้างก็อาจถือว่ากระทำการอันผิดสัญญา หรือฝ่าฝืนระเบียบ คำสั่งข้อบังคับ และเลิกจ้างได้
2. สิ่งที่ต้องระมัดระวังอีกประการคือ รายละเอียดเรื่องเงินเดือน ถือเป็นข้อมูลส่วนบุคคลตามกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล การเปิดเผยข้อมูลอาจต้องได้รับความยินยอมจากเจ้าของข้อมูล (คือบริษัท และพนักงานที่เป็นเจ้าของข้อมูล) เสียก่อน
3. กรณีนี้จะเลิกจ้างได้หรือไม่ ต้องดูว่าพนักงานที่เป็นสามีได้มีส่วนร่วมหรือไม่ในการส่งข้อมูลให้ภรรยาของตนนำข้อมูลไปเปิดเผย ถ้ามีส่วนร่วมก็อาจเป็นเหตุให้เลิกจ้างได้ ในทางกลับกันหากไม่มีส่วนร่วม เช่น ภรรยาสามารถเข้าถึงข้อมูลในโทรศัพท์ได้ หรือส่งรายละเอียดให้ภรรยาดู แต่ภรรยานำไปเปิดเผย ถ้าข้อเท็จจริงเป็นเช่นนี้ก็ไม่น่าจะเลิกจ้างได้ แต่การไม่เก็บข้อมูลเงินเดือนให้เป็นความลับ หรือมีเครื่องมือป้องกันการเข้าถึงข้อมูลที่เป็นความลับก็อาจถูกลงโทษด้วยการออกหนังสือตักเตือนได้
เรื่องนี้เป็นอุทธาหรณ์ว่า อะไรที่เป็นข้อตกลงในสัญญาต้องระมัดระวังให้ดี การได้รับเงินเดือนแม้อยากจะเล่าเรื่องราวให้เพื่อนในโซเชียลมีเดียฟังสังเพียงใดก็ตาม แต่มันอาจเป็นการกระทำที่ขัดกับข้อตกลงที่มีกับนายจ้างได้
นอกจากนั้น ต้องดำเนินการให้เป็นความลับ ที่แปลว่ามีการป้องกันการเข้าถึง เช่น ใส่ตู้มีกุญแจ หรือมีรหัสผ่าน